ชื่อโครงการ
การเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการเรียนรู้นวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ท้องถิ่นมลายูในพื้นที่ยากจน จังหวัดปัตตานีคำสำคัญ
นวัตกรรม, นวัตกร, ชุมชน, ยากจน, ปัตตานีบทคัดย่อ
สำหรับการพัฒนาโจทย์วิจัยนี้มหาวิทยาลัยมีเป้าประสงค์ต้องการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีของตนเองที่มีศักยภาพและสอดคล้องกับบริบทและต้นทุนเดิมของชุมชน มาใช้ร่วมกับกลไกการขับเคลื่อนชุมชนเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ของชุมชน ผ่านการขับเคลื่อนของนวัตกรของชุมชนจนกลายเป็นชุมชนนวัตกรรมที่มีการจัดการและแก้ไขปัญหาของตนเองในมิติของคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของตนเองได้ จนสามารถข้ามพ้นปัญหาความยากจนและจัดการตนเองในอนาคตได้อย่างยั่งยืน โครงการนี้ได้มุ่งเป้าในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร 3 ชนิด คือ มะม่วงเบา ยางพาราและพริก ซึ่งประกอบด้วย 5 โครงการย่อย ที่มีการดำเนินงานเชื่อมโยงกันในพื้นที่เป้าหมายร่วมกับหน่วยงานภาคีร่วมทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ครอบคลุม 13 ตำบล ในพื้นที่ยากจนจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งการดำเนินงานกิจกรรมในแต่ละโครงการย่อย ได้แก่ มะม่วงเบา ซึ่งมี 3 โครงการย่อยได้แก่ โครงการย่อยที่ 1 4 และ 5 ครอบคลุมจำนวน 2 ตำบล ในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี คือ ตำบลปุโละปุโย และเทศบาลบ่อทอง โดยทั้ง 3 โครงการย่อยข้างต้น ได้แบ่งการทำงาน ดังนี้ โครงการย่อยที่ 1 และ 4 จะรับผิดชอบในระดับกลางน้ำ โดยจะดำเนินการพัฒนา ยกระดับและสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์น้ำพริกมะม่วงเบาของชุมชนผ่านการทำงานร่วมกับโรงงานสเตอริไลส์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่วนโครงการย่อยที่ 5 จะรับผิดชอบในระดับปลายน้ำในแง่ของการสร้างแบรนด์ การสร้างการจดจำสินค้าแก่ลูกค้าและการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดในการกระจายสินค้า ส่วนระดับต้นน้ำจะรับผิดชอบโดยชุมชนในการเตรียมแปลงสวนมะม่วงเบาปริมาณ 90 ต้น ผ่านการสนับสนุนโดยการยางแห่งประเทศไทยอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เพื่อรองรับการขยายสเกลการผลิตน้ำพริกมะม่วงเบาของชุมชนในอนาคต โดยโครงการย่อยที่ 1 ได้นำ 3 เทคโนโลยีพร้อมใช้มาแก้ปัญหาของชุมชน คือ เทคโนโลยีการนำเครื่องจักรกลมาแปรรูปน้ำพริกมะม่วงเบาเพื่อการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ เทคโนโลยีการล้างและทำความสะอาดวัตถุดิบแปรรูปน้ำพริกมะม่วงเบา และเทคโนโลยีการยืดอายุการเก็บรักษาน้ำพริกมะม่วงเบาสด ส่วนโครงการย่อยที่ 4 ได้ใช้ 3 เทคโนโลยีพร้อมใช้ในการนำไปแก้ปัญหาของชุมชน คือ เทคโนโลยีการผลิตอาหารตามกระบวนการมาตรฐานเชิงพาณิชย์ เทคโนโลยีการคัดเลือกบรรจุภัณฑ์อาหาร และเทคโนโลยีการถนอมอาหารด้วยกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์และสเตอริไลส์ ส่วนโครงการย่อยที่ 5 ได้ศึกษาข้อมูลของชุมชน ตลาดและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจนสามารถสกัดแบรนด์น้ำพริกมะม่วงเบาได้อย่างน่าสนใจ ผลผลิตยางพาราในแผนงานนี้จะมี 3 โครงการย่อยที่มาทำงานร่วมกัน ได้แก่ โครงการย่อยที่ 2 3 และ 5 ครอบคลุมจำนวน 8 ตำบล กระจายในพื้นที่ยากจนจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส โดยชุมชนทั้ง 8 ตำบลนี้จะมีจุดแข็งที่เป็นต้นทุนเดิมของชุมชนที่แตกต่างกันและสามารถจัดกลุ่มตามจุดแข็งของตนเองได้ ทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มที่มีจุดแข็งด้านวัตถุดิบยางพารา
2. กลุ่มที่มีจุดแข็งด้านเครื่องจักรอุตสาหกรรม สำหรับแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา
3. กลุ่มที่มีจุดแข็งด้านทักษะการจักสานวัตถุดิบทางธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ ย่านลิเผา กระจูดและต้นนมแมว และ
4. กลุ่มที่มีทักษะด้านงานเชื่อมและการออกแบบเฟอร์นิเจอร์เหล็กและไม้
จากผลการทำงานในโครงการนอกจากจะสามารถสร้างนวัตกรชาวบ้าน และพื้นที่แห่งการเรียนรู้ได้บรรลุตามแผนที่ได้วางไว้ ทางชุมชนกลุ่มเป้าหมายยังได้เครือข่ายการทำงานร่วมกันในการแปรรูปเฟอร์นิเจอร์จักสานหวายเทียมจากยางพารา โดยในเครือข่ายจะมีการทำงานตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ นอกจากนี้ยังได้ต้นแบบเฟอร์นิเจอร์จักสานหวายเทียมยางพารามากกว่า 10 แบบ ที่มีลวดลายการจัดสานที่โดดเด่นแตกต่างจากที่อื่น และจากการสำรวจด้านการตลาดจะพบว่าผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์จักสานหวายเทียมจากยางพารายังมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่จะสามารถสร้างตลาดได้ ส่วนกรณีของผลผลิตพริกจะมี 2 โครงการย่อย คือ โครงการย่อยที่ 3 และโครงการย่อยที่ 4 ที่ทำงานร่วมกันใน 3 พื้นที่ในอำเภอยากจนในจังหวัดปัตตานี คือ อำเภอยะหริ่งจำนวน 2 พื้นที่ และอำเภอโคกโพธิ์ จำนวน 1 พื้นที่ ผลของโครงการสามารถสร้างนวัตกรและยกระดับนวัตกรด้านการทำตู้อบแห้ง 2 ท่าน และการใช้งานเพื่อทำพริกแห้งที่มีคุณภาพอีก 2 ท่าน การอบรมเชิงปฏิบัติการในโครงการ ได้พัฒนาคู่มือชุดองค์ความรู้ด้านการปลูกพริกจินดา ชุดองค์ความรู้ด้านการทำตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์และคู่มือการแปรรูปพริกแห้ง ซึ่งได้นำมาใช้ควบคู่กับการปฏิบัติในกิจกรรมต่างๆ ของโครงการจนเกิดพื้นที่ต้นแบบเรียนรู้นวัตกรรม และเชื่อมโยงกับหน่วยงานเกษตรตำบล จัดทำแผนการพัฒนาท้องถิ่นหนุนเสริมการประกอบกิจการของชุมชนให้ต่อไป
Title
Empowering communities to learn the innovation forvalue added of Malayu local identity products in poor areas of Pattani ProvinceKeywords
Innovation, Innovator, Community, Poor, PattaniAbstract
–