ในการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ครั้งนี้ มีการปฏิรูป เชิงโครงสร้างที่สำคัญโดยเฉพาะการจัดตั้ง 3 หน่วยบริหารและจัดการทุนขึ้น โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จัดตั้งขึ้นมาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จากการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ (Area-Based Collaborative Research) ซึ่งเป็นฐานงานเดิมจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทักษะการจัดการและชุดความรู้การจัดการเชิงคุณภาพที่มีมากกว่า 10 ปี ได้ส่งมอบและพัฒนาออกมาเป็นเป้าหมายเชิงกลยุทธ์และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการวิจัยเชิงพื้นที่และรูปธรรมความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น ถือว่าเป็นบทบาทหน้าที่ที่ท้าทายและมีความคาดหวังสูง แต่ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่ายในปีที่ผ่านมา ทั้งสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่สนับสนุนการดำเนินงานเชิงนโยบาย แผนยุทธศาสตร์และงบประมาณ รวมทั้งการบริหารจัดการภายในที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน ทำให้หน่วย บพท. สามารถวางโปรแกรมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Program) และดำเนินการขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือกับประชาคมวิชาการได้อย่างเป็นรูปธรรม

ในการนี้ มีการขับเคลื่อนเชิงระบบและกลไกการจัดการเชิงพื้นที่ที่น่าสนใจ รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมที่สำคัญดังนี้

การออกแบบและสร้างระบบกลไกการสนับสนุนงานวิจัย
เพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ในบริบทของประเทศไทยโดยอิงกับระบบการบริหารงานวิจัยมาตรฐานจาก สกว. เดิมและปรับรูปแบบให้คิดใหญ่ เร็วและตรงกับความต้องการของประเทศให้มากขึ้น

การออกแบบและสร้างแพลตฟอร์ม
ซึ่งประกอบไปด้วย ข้อมูล กลไกและกระบวนการ เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนและขยายผลให้เกิดรูปธรรมความสำเร็จอย่างเร่งด่วน อาทิ แพลตฟอร์มการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ในการสร้างระบบค้นหาและสอบทานครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ และระบบส่งต่อความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจำเป็นและเร่งด่วน รวมทั้งพัฒนาโมเดลแก้จนระดับพื้นที่ นำคนจนเข้าไปอยู่ห่วงโซ่คุณค่า (Network Value Chain) ถือว่าเป็นการขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐที่เกี่ยวข้องและภาควิชาการ ได้แก่ สถาบันการศึกษาที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาพื้นที่

การสร้างกลไกความร่วมมือ
สร้างกลไกความร่วมมือของการทำงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่ ทั้งในระดับพื้นที่และระดับส่วนกลาง หน่วย บพท. ได้ขับเคลื่อนการสร้างกลไกความร่วมมือแบบบูรณาการทั้งในระดับกระทรวง ระดับหน่วยปฏิบัติการและระดับคนทำงานวิจัยผ่านการจัด Consortium หรือการสร้าง Dialogue Forum  ในรูปแบบต่าง ๆ มากกว่า 100 เวทีในระยะเวลา 1 ปี  การพัฒนากรอบการวิจัยอย่างมีส่วนร่วม (National Framework) การพัฒนาโจทย์การวิจัยร่วมกับผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย (Users) และผู้มีส่วนได้เสียสำคัญ (Key Stakeholders) ของเรื่องสำคัญของประเทศอย่างมีส่วนร่วม  รวมทั้งเวทีการวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนระดับพื้นที่ของจังหวัดอย่างมีส่วนร่วม เป็นต้น

หน่วย บพท.ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความศรัทธาต่อกระบวนการดำเนินงานและการทำงานของหน่วย บพท. จนทำให้เกิดรูปธรรมความสำเร็จ เป็นความร่วมมือเพื่อเป้าหมายร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนและเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองโดยรวม ซึ่งน่ายินดีและน่าชื่นชมต่อประเทศอย่างยิ่ง

อนึ่ง ผลสัมฤทธิ์และผลสำเร็จใด ๆ ก็ตาม ที่ส่งผลไปยังพี่น้องประชาชน ขอให้เป็นผลบุญที่ย้อนไปถึงทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกแบบจัดตั้งและร่วมดำเนินการงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ในประเทศไทยครั้งนี้ด้วย

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา
ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)