เขย่าเศรษฐกิจฐานรากภาคอีสาน ชูอัตลักษณ์สามลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล ด้วย”มหกรรมฟื้นใจเมือง”

บพท. ผนึกกำลังร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 12 แห่ง จัดงาน “มหกรรมฟื้นใจเมือง” ฟื้นฟู สืบสาน อนุรักษ์อัตลักษณ์ของสามลุ่มน้ำภาคอีสาน กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เกิดวัฏจักรสร้างรายได้สู่ความมั่นคงให้พื้นที่อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 12 สถาบัน จัดงานมหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่ ณ ถนนคนเดินเลียบแม่น้ำมูล (ตลาดใหญ่) จ.อุบลราชธานี โดยมี ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) พร้อมด้วย นายกำพล สิริรัตตนนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นางสาวพิทยา ไชยสงคราม นายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี ผศ.ดร. ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถาน “ธัชภูมิ” เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ให้เกียรติร่วมเปิดงาน
โดยภายในงานมีกิจกรรมการออกร้านจำหน่ายอาหาร สินค้าผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์บนฐานทุนวัฒนธรรม กิจกรรม WORKSHOP และสินค้าจากตัวแทนชุมชน สมาคมและหน่วยงานในพื้นที่ทางวัฒนธรรมกว่า 40 ร้านค้า การแสดงชุดวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยโครงการวิจัย 14 โครงการ จากเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั้ง 12 แห่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ มวยพิมายโบราณ รำตังหวาย ฟ้อนหัตถศิลป์ถิ่นสูงเนินผ้าเงี่ยงนางดำ รำสี่แสง หรำรงระ หมอลำหมอแคนบวงสรวงเจ้าพ่อพญาแล การแสดงวาณิชห้วยราช รำตุ้มผ่าง การแสดงชุดต้นกล้ากันตรึม และอีกมากมาย
การจัดมหกรรมฟื้นใจเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้เป็นการผนึกกำลังของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ภาคอีสานและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ศิลปิน ช่างฝีมือ ปราชญ์ชาวบ้าน ภาคธุรกิจเอกชน ร่วมกันออกแบบสร้างระบบนิเวศทางวัฒนธรรมของตนเองใหม่ รื้อฟื้นวัฒนธรรม ฟื้นฟู พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยของคนในพื้นที่ที่สูญหาย สู่การสร้างผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม สร้างผู้ประกอบการวัฒนธรรม สร้างกลไกในพื้นที่ เกิดพื้นที่สร้างสรรค์และแหล่งเรียนรู้จากอัตลักษณ์ที่หลากหลายในพื้นที่สามลุ่มน้ำสำคัญของภาคอีสาน (ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล) ผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยของหน่วย บพท. ภายใต้กรอบการวิจัย “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่” สร้างรูปธรรมเชิงประจักษ์ในพื้นที่ภาคอีสาน ได้แก่ ผู้ประกอบการวัฒนธรรม 30 กลุ่ม จำนวน 85 ราย ผู้ประกอบการวัฒนธรรมรายใหม่ที่เกิดจากการดำเนินโครงการ จำนวน 40 ราย “คนรุ่นใหม่” 128 คน “คนคืนถิ่น” 35 คน และ”นวัตกรวัฒนธรรม” 74 คนที่มีส่วนร่วมในโครงการ ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม 75 ผลิตภัณฑ์ บริการทางวัฒนธรรม 56 บริการ และพื้นที่วัฒนธรรม 19 แห่ง ด้วยการผนึกกำลังของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ และการหนุนเสริมจากทุกภาคส่วนสามารถสร้างงานสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ประชาชนในพื้นที่และช่วยยกระดับเศรษฐกิจชุมชนสังคมและคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป

สถิติการเข้าชม