เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 ผลงาน ”การพัฒนาเมืองด้วยทุนวัฒนธรรมชุมชน หลาดชุมทางทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช” ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โครงการวิจัย “การพัฒนาเมืองแห่งทุนวัฒนธรรมที่ยั่งยืน และเครือข่ายย่านวัฒนธรรมชุมชน” โดย มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับรางวัล “ดีเด่น” ประเภทชุมชน องค์กร จากนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในพิธีมอบรางวัลการประกวดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ประจำปี 2567 โดยมีนายปฏิภาณ เสนะคุณ เลขานุการนายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง พร้อมคณะทำงานเป็นตัวแทนเข้ารับมอบโล่รางวัล ณ ห้องโถง ชั้น B1 อาคารรัฐสภา
“หลาดชุมทางทุ่งสง” เป็นผลจากการขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพท. มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 ดำเนินงานโดย มหาวิทยาลัยศิลปากร ผ่านการทำงานอย่างมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมที่ร่วมขับเคลื่อนย่านวัฒนธรรมหลาดชุมทางทุ่งสง ร่วมกำหนดนโยบาย เกิดการเกาะเกี่ยวในสังคมชุมชน ยกระดับพัฒนาพื้นที่สู่การเป็นเมืองแห่งทุนทางวัฒนธรรม บนฐานแนวคิด “ทุกคนเป็นเจ้าของเมืองทุ่งสงร่วมกัน” จากผลการดำเนินการที่ผ่านมา ก่อให้เกิดห่วงโซ่อุปทานในระบบเศรษฐกิจ เกิดธุรกิจชุมชน พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งผลต่อการสร้างรายได้ให้เกิดในเศรษฐกิจภาพรวมของอำเภอทุ่งสง ที่สำคัญเกิดการฟื้นฟู อนุรักษ์ สืบสาน และพัฒนา ภูมิวัฒนธรรม และทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนระหว่างสภาพแวดล้อมและวิถีวัฒนธรรมภาคใต้ ในบริบทสังคมวัฒนธรรมเมืองทุ่งสง สร้างเครือข่ายและการรวมตัววัฒนธรรม เกิดความรัก ความสุข และแก้ไขปัญหาของเมืองด้วยทุนทางวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรม (วัฒนธรรมสร้างรายได้ จากคุณค่า สู่มูลค่า ) จนสามารถสร้างการมีส่วนร่วมเกิดเป็นประโยชน์กับเมืองทุ่งสงได้ ทำให้นวัตกรรมนี้มีความแตกต่างจากที่อื่น ๆ ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเมือง จึงถือเป็นต้นแบบการจัดการเมืองด้วยทุนวัฒนธรรมระดับประเทศได้อีกด้วย
ปัจจุบัน มีการดำเนินการเปิดหลาดชุมทางทุ่งสงมาแล้วกว่า 290 ครั้งสามารถสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในพื้นที่แล้วกว่า 164 ล้านบาท และมีกำหนดจัดงานเฉลิมฉลองหลาดชุมทางทุ่งสง ครั้งที่ 300 ในวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2567 ณ หลาดชุมทางทุ่งสง ถนนชัยชุมพล ตำบลปากแพรก อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช