ผนึกกำลังความคิด กำหนดทิศทางวิจัย “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา”

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 15 อาคาร SM Tower สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา รักษาการผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีงบประมาณ 2563-2564 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ สกสว. เป็นเจ้าภาพจัดประชุม มีศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นประธานการประชุม มีผู้บริหารสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) สพฐ. ผู้บริหารองค์กรในภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) และผู้บริหารหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาร่วมหารือหลายหน่วยงาน อาทิ มูลนิธิสยามกัมมาจล สถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.)

การประชุมครั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อค้นพบจากงานวิจัยพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนทุนในช่วงปีที่ผ่านมาจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ใน 3 พื้นที่นำร่อง คือ จังหวัดศรีสะเกษ ระยอง และสตูล ด้านสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) สพฐ. ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในการส่งเสริมสนับสนุนและประสานงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้นำเสนอความคืบหน้าในส่วนของนโยบายว่ามีมติให้ดำเนินการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใน 6 พื้นที่ ที่ประกาศไป คือ จังหวัดศรีสะเกษ ระยอง สตูล เชียงใหม่ กาญจนบุรี และพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจะยังไม่เพิ่มพื้นที่ใหม่ นอกจากนี้ สบน. ได้ขอคำปรึกษาจาก ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เพื่อเตรียมบริหารจัดการงบประมาณและสูตรจัดสรร ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 โดยไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระด้านงบประมาณของรัฐ โดยจะร่วมมือกับ TDRI ในการดำเนินการให้สำเร็จเพื่อเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2563 เป็นปีแรก

ที่ประชุมได้ร่วมกันสะท้อนผลและระดมความคิดเห็น เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด รวมถึงให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผนงานสำคัญ (Flagship) ปีงบประมาณ 2563 และ 2564 ของหน่วย บพท. ที่สอดรับกับ “นโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563 – 2570” โดยสรุป

1. การวิจัย ต่อยอดการทำงานในปีแรก มีเป้าหมายร่วมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งระดับโรงเรียน พื้นที่ และนโยบาย โดยมี Milestone ดำเนินการ 3 ระยะ (phase) ระยะแรกหาหัวใจ ระยะต่อไปทำวิจัยปฏิบัติการ และระยะสุดท้ายสกัดสรุปข้อค้นพบ สำหรับในพื้นที่ควรส่งเสริมให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) รับเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย/นักวิจัยหลัก ในการออกแบบกลไกและโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ รวมทั้งผลักดันให้เกิดผลจริงและสรุปข้อค้นพบจากขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ซืงต้องมีการวิจัยเปรียบเทียบผลการปรับตัว การดำเนินการและการปลดล็อกระหว่างพื้นที่ ส่วนการวิจัยเชิงระบบจะเน้นการปลดล็อกเรื่องยาก/ซับซ้อน เช่น การบริหารงานบุคคล การบริหารงบประมาณ

2. การขับเคลื่อน มีระบบนิเวศ (ecosystem) เอื้อ มีกลไกขับเคลื่อนระดับจังหวัดเพราะมีโครงสร้างต่าง ๆ รองรับ ทั้งโครงสร้างงบประมาณ โครงสร้างข้อมูลความรู้ (สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่) โครงสร้างภาคประชาสังคม โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินระดับจังหวัด มีคนพื้นที่เป็นฟันเฟืองหลักและทุกฝ่ายประสานการทำงานกันจริงจัง ทั้งนี้ ผอ.สพท.ในพื้นที่ต้องเป็นผู้นำ มีโรงเรียนที่ขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงด้วย 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1) Growth Mindset 2) ภาวะผู้นำ และ 3) การมีส่วนร่วม สิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการคือ การเปิดพื้นที่ให้มีการปรับบทบาทการทำงานและมีพลังในการทำงานร่วมกัน การพัฒนา Capacity Building บุคลากรทุกฝ่าย (เช่น ผอ.รร. ครู ศึกษานิเทศก์) เพื่อให้เกิด Transformative Learning โดยมีระบบพี่เลี้ยง หรือมี Catalyst ภายนอกเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและกระตุ้นการทำงาน ควบคู่กับการเสริมสร้างพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนสังคมสู่การเป็น Learning City

3. การปลดล็อก ควรเริ่มดำเนินการจากแนวทาง/ช่องทางที่พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 กำหนดไว้ ภาพความคาดหวังคือ ต้องการให้มีชุด/ Package ของการปลดล็อก โดยรวมทุกประเด็น/นวัตกรรม ที่พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า ทำแล้วการศึกษามีคุณภาพขึ้นได้จริง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำมาปรับใช้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยใช้ Design Thinking เพื่อปรับลงดำเนินการให้เหมาะสมในแต่ละบริบท/พื้นที่ ดำเนินการ วัดและประเมินผล ศึกษาเรียนรู้ปัจจัยเงื่อนไขความสำเร็จของการขยายผลในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ระดับความยากง่ายของการปลดล็อกในแต่ละเรื่องมีไม่เท่ากัน ระดับความซับซ้อนของการแก้ไขระเบียบกฎเกณฑ์ของแต่ละเรื่องมีไม่เท่ากัน การยกเลิกระบบเดิมอาจต้องมีการสร้างระบบใหม่ ที่สามารถรับประกันว่าดีกว่ามาทดแทน ซึ่งบางระบบนี้จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการวิจัยและพัฒนาระบบให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ดังนั้น จึงต้องมาพิจารณาว่าหากเรื่องใดที่สามารถปลดล็อกได้ในทันที ซึ่งจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ผลักดันให้สามารถดำเนินการได้จริงและรวดเร็ว

ที่มา : สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ

สถิติการเข้าชม