วันที่ 11 มกราคม 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้ร่วมจัดเวทียกย่อง เชิดชู มอบโล่เกียรติยศผลงานวิจัยดีเด่น หน่วย บพท. ประจำปี พ.ศ. 2565 กับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในงาน “Future Thailand”ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ 1 ชั้น 5 ซึ่งภายในงานได้รับเกียรติจาก น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดและปาฐกถาพิเศษ “อว. กับการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศ” แถลงผลงาน 3 เดือน พร้อมทั้งแสดงแนวทางอนาคตของ อว. ในการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศไทยที่จะมุ่งเน้น “เรียนดี มีความสุข มีรายได้” และ “วิจัย นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” พร้อมทั้งให้เกียรติมอบโล่เกียรติยศแสดงความยินดีแก่นักวิจัยที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นหน่วย บพท. ประจำปี 2565 จำนวน 10 ผลงาน จำแนกเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย
งานวิจัยดีเด่นด้านการพัฒนาเชิงระบบ/นโยบายระดับชาติหรือจังหวัดหรือท้องถิ่น มี 3 ผลงานได้แก่
1) งานวิจัยสร้างเมืองปูทะเล กลางวิกฤตที่ปัตตานี โดย รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม และคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
2) งานวิจัยธุรกิจปันกัน “ตอน เสริมสภาพคล่องด้วย…วัคซีนการเงิน” โดย รศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ และคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
3) งานวิจัยระบบบริหารครัวเรือนยากจนแบบร่วมมือระดับพื้นที่ โดย รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน และคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
งานวิจัยดีเด่นด้านการแก้ปัญหาและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและอาชีพ มี 4 ผลงาน ได้แก่
1) งานวิจัยการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมจังหวัดสุรินทร์ ด้วยนวัตกรรมสำหรับชุมชน โดย ดร.ภรณี หลาวทอง และคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
2) งานวิจัยกระจูดแก้จนแบบมีส่วนร่วมจังหวัดพัทลุง โดย รศ.ดร.สมัคร แก้วสุกแสง และคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยทักษิณ
3) งานวิจัยผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากมะม่วงเบาใต้-ยางพารา และพริก โดย ผศ.ดร.อนุวัตร วอลี และคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยฟาฏอนี
4) งานวิจัยการพัฒนาโคเนื้อจังหวัดน่าน ด้วยกลไกความร่วมมือเชิงพื้นที่ โดย ผศ.น.สพ.ดร.วินัย แก้วละมุล และคณะนักวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
งานวิจัยดีเด่นด้านการอนุรักษ์พัฒนาและจัดการภูมิปัญญา ทรัพยากร และทุนของชุมชน มี 3 ผลงาน ได้แก่
1) งานวิจัยการจัดการทรัพยากรป่าประ นบพิตำ สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์และการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน โดย ผศ.ดร.สมรักษ์ รอดเจริญ และคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
2) งานวิจัย Learning City LAMPANG Model โดย ดร.ขวัญนภา สุขศร และคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง จ.ลำปาง
3) งานวิจัย Phayao Learning : พะเยาเมืองแห่งเรียนรู้ของยูเนสโกของทุกคน โดย รศ.ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ และคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยพะเยา
เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติแก่นักวิจัยที่อุทิศแรงกาย แรงใจ และพลังสติปัญญา ในการทำวิจัยและพัฒนาพื้นที่ ให้มีความเข้มแข็ง และมีคุณภาพชีีวิตที่ดีขึ้น กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการสร้างสรรค์งานวิจัย ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ และประเทศรวมถึง เพื่อเป็นการเผยแพร่ ผลงานวิจัยดีเด่นสู่การรับรู้ของสาธารณะ โดยมีผู้บริหารในระบบ ววน. และเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และนักวิจัย เข้าร่วมงานกว่า 800 คน