เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. เข้าหารือพูดคุยแนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับ เครือข่ายมหาวิทยาลัยแก้จนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ผศ.ดร.จงรัก พลาศัย นายกสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ดร.ปรีชา สะแลแม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาส นายนัจมุดดีน อูมา ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดร.ซาการียา สะอิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นราธิวาส เขต 4 และมี ผศ.ดร.วสันต์ พลาศัย ม.นราธิวาสฯ ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนียว ม.สงขลานคริทร์ วิทยาเขตปัตตานี และ ผศ.ดร.เกสรี ลัดเลีย มรภ.ยะลา ตลอดจนคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายพลเรือน และฝ่ายปกครอง เข้าร่วมการหารือ ณ ห้องประชุม ดร.จงรัก พลาศัย ชั้น 3 สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาส
สำหรับการประชุมแนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติจังหวัดชายแดนใต้นับเป็นการสร้างกลไกภาคีเครือข่ายการบริหารจัดการภัยพิบัติของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ชายแดนใต้ พร้อมทั้งประเมินผลกระทบจากอุทกภัยต่อการบริหารจัดการเส้นทางน้ำในอนาคต และหารือแนวทางการจัดการภัยพิบัติจังหวัดชายแดนใต้ร่วมกัน โดยเฉพาะ”ภัยพิบัติ” ที่ถือเป็นการซ้ำเติมพี่น้องที่ยากจน ที่จะต้องหาแนวทางการบรรเทาให้ได้มากที่สุด ทำให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตต่อและลุกขึ้นมาได้เร็วที่สุด โดยสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นคือ System Structure ได้แก่ กลไกที่อยู่ในแผนป้องกันภัย เครื่องมือที่ต้องเตรียมพร้อม บริบทการเข้าถึงพื้นที่ ภูมิศาสตร์การเมืองและภูมิสังคมที่แตกต่างกัน
ในงานนี้ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบพท. กล่าวว่า “การจัดการภัยพิบัติ มีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องมาหารือร่วมกัน เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง หากเกิดซ้ำอีกจะรับมือให้ดีขึ้นได้อย่างไร โดยมีแนวทาง ดังนี้ 1) ต้องมีระบบป้องกันและระบบเตือนภัยที่ต้องเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกัน มหาวิทยาลัยแก้จน 3 จังหวัดชายแดนใต้ทำระบบข้อมูลชี้เป้าครัวเรือนยากจน เมื่อนำมา mapping ข้อมูลกับระบบน้ำ ระบบเชิงพื้นที่ของภัยพิบัติ จะชี้เป้าให้เห็นว่ามีคนที่ได้รับผลกระทบจำนวนเท่าไหร่ 2) การเตรียมพร้อม ยังมีสิ่งที่ขาดคือเรื่องข้อมูล ระบบการสร้างศูนย์บัญชาการเรื่องข้อมูลจะตั้งอยู่ที่ไหน ด้วยทหารมีทั้งกำลังและเครื่องมือที่สามารถเข้าถึงคนได้มากที่สุด พร้อมกับระบบข้อมูลชี้เป้า ระบบการเตือนภัย ดังนั้นจะต้องพร้อมเป็นหลักที่สำคัญที่สุด 3) กลไกความร่วมมือ เป็นตัวกลางในการเสริมพลังงานหน่วยงานหลัก สร้างระบบข้อมูลชี้เป้า การประเมินผลกระทบ ชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ไหนยังเข้าไม่ถึง หรือต้องการกำลังเสริมทัพ ตลอดจนการจัดทำแผนฟื้นฟูของรัฐบาล
ทั้งนี้ หน่วย บพท. ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชน จึงใช้โครงการแก้จนช่วยเหลือพี่น้องเร่งด่วน โดยจะจัดสรรทุนแบบเร่งด่วนลงมาช่วยพี่น้อง รวมถึงจัดทำแผนรับมือในปี 2567-2568 เพื่อที่จะสามารถหาแนวทางในการรับมือและบรรเทาเหตุการณ์ให้ได้มากที่สุดต่อไป