ประธานยุทธศาสตร์ชายแดนใต้โฟกัสต่อยอดงานวิจัยปูทะเลแก้จนมอ.ปัตตานี-บพท. ทีมนักวิจัยเสนอบูรณาการความร่วมมือ”เกษตร-ทส.”พัฒนาประมงชุมชนชายฝั่ง

รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ชื่นชมโครงการวิจัยปูทะเลแก้จนของคณะวิจัย มอ.ปัตตานี พร้อมรับข้อเสนอการพัฒนาอาชีพประมงชุมชนชายฝั่งทะเลไปพิจารณาดำเนินการ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.)  เข้าเยี่ยมชมโรงเพาะฟักสัตว์น้ำ  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และติดตามความคืบหน้าการขยายผลความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปูทะเลให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการเพาะพันธุ์ในรูปแบบการเพาะฟักโดยแม่พันธุ์ไข่นอกกระดอง โดยมีนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผศ.ดรมนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการ รศ.ดร.กรรณิการ์ สหกะโร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม   อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม รายงานถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาการเพาะพันธุ์ และเพาะเลี้ยงปูทะเล กระทั่งยกระดับขึ้นมาเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่มีบทบาทอย่างสูงในการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ แก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จแม่นยำ แก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นดอกผลจากงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเลี้ยงปูทะเลให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ของประเทศสู่เมืองปูทะเลโลก โดยการส่งเสริมสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งมีการกำหนดโจทย์วิจัยที่มุ่งให้เกิดการค้นคว้าหาความรู้ในการเพาะฟักลูกปู จากแม่พันธุ์ปูที่มีไข่นอกกระดอง เพื่อขยายพันธุ์ปูทะเล และเพิ่มปริมาณปูทะเลให้เพียงพอที่จะส่งเสริมเป็นอาชีพที่มั่นคง สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง

“ปัญหาการขาดแคลนแม่พันธุ์ปูที่มีไข่นอกกระดองเพื่อใช้ในการเพาะพันธุ์และอนุบาล เป็นเงื่อนไขอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลให้การเพาะและขยายพันธุ์ปูทะเลในประเทศไทย เนื่องจากโดยปกติปูทะเลจะอาศัยบริเวณชายฝั่งป่าชายเลน แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องปล่อยไข่ให้ออกไปอยู่นอกกระดอง ปูจะว่ายน้ำในช่วงที่ไข่ยังอยู่ในตัวเพื่อไปหาแหล่งที่เหมาะสมที่ระดับความลึกราว 30 -50 เมตร บริเวณนอกชายฝั่ง แต่เมื่อคณะนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดปัตตานี  สามารถพัฒนาเทคโนโลยีระบบการกระตุ้นแม่พันธุ์ปูทะเลให้ปล่อยไข่ออกนอกกระดอง ภายในศูนย์เพาะฟักลูกปู ทำให้เราสามารถก้าวข้ามเงื่อนไขอุปสรรคไปได้”

รศ.ดร.ซุกรี กล่าวว่า ระบบและวิธีนี้สามารถกระตุ้นให้แม่ปูที่มีไข่ในกระดองให้ปล่อยไข่ออกนอกกระดองและฟักออกมาเป็นลูกปู เพื่อนำไปอนุบาลได้ถึงร้อยละ 75-85  ปัจจุบันแม่ปูทะเลที่มีไข่นอกกระดองหรือลูกปูที่ผลิตได้จากโครงการวิจัยฯ ได้ถูกส่งมอบให้แก่หน่วยงานที่สนใจ นำเอาลูกปูไปอนุบาลต่อไปเพื่อให้บริการแก่เกษตรกรและการเพิ่มปริมาณปูทะเลในแหล่งน้ำธรรมชาติ บนหลักการที่เชื่อมโยงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้จังหวัดปัตตานีเป็นเมืองปูทะเลโลก

ทั้งนี้ รศ.ดร. ซุกรี ได้นำเสนอข้อเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรีว่า อยากให้ภาครัฐมีการส่งเสริมและบูรณาการการทำงานต่อเนื่องเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปูทะเล โดยสนับสนุนการพัฒนาการผลิตแม่ปูและพัฒนาพันธุ์ปูของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ตลอดจนการดำเนินงานของโรงเพาะฟักสัตว์น้ำให้สมบูรณ์เพื่อให้สามารถพัฒนาเทคนิคและผลิตลูกปูได้อย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้กรมประมง กระทรวงเกษตรฯ มีส่วนร่วมในการผลิตลูกปูและส่งเสริมการเลี้ยงปูให้แก่เกษตรกร  พร้อมทั้งสนับสนุนให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เพิ่มการนำพื้นที่ป่าชายเลนมาใช้ประโยชน์   นอกจากนี้ภาครัฐควรสนับสนุนและต่อยอดการดำเนินงานธนาคารปูม้าชุมชนที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  กำหนดมาตรการช่วยเหลือด้านราคาปลากะพงขาว  สร้างระบบนิเวศทางเลือกอาชีพใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนชายฝั่งที่โยงกับฐานทรัพยากร เช่น การท่องเที่ยวรอบอ่าวปัตตานี  เพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาแก่ชุมชนชายฝั่งทะเล

สถิติการเข้าชม