บพท. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนด“ดัชนีชี้วัดเมือง” หวังใช้สร้าง “เมืองน่าอยู่”

           เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) สมาคมสันนิบาติเทศบาลแห่งประเทศไทย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเวทีสาธารณะ “ดัชนีชี้วัดเมือง: จากนโยบายสู่การขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่” โดยมี นายจาดุร อภิชาตบุตร ที่ปรึกษาผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพมหานคร

           งานในครั้งนี้ถูกจัดขึ้นเนื่องด้วยความสำคัญของ ประเด็น”เมืองน่าอยู่” ที่ได้ถูกบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ในฐานะแม่บทสำคัญที่ว่าด้วย “พื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ” รวมถึงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570) ได้มีการระบุประเด็นของเมืองน่าอยู่ไว้ใน “หมุดหมายที่ 8: ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน” เวทีนี้จึงมุ่งเน้นการกำหนดดัชนีชี้วัดเมืองเพื่อนำไปสู่ “เมืองน่าอยู่” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักของหน่วยนโยบายและเทศบาลต่อความสำคัญของการชี้วัดเมือง การสร้างความร่วมมือทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ และความร่วมมือระหว่างเมืองหรือเทศบาลแต่ละแห่งในการนำการชี้วัดเมืองไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงและจัดทำแผนของเมือง รวมทั้งเป็นการประกาศความร่วมมือดัชนีชี้วัด”เมืองน่าอยู่”จากฐานภาคประชาชนระหว่างหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ กับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

           ภายในงานประกอบไปด้วยกิจกรรมจากนักวิจัยและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนที่ร่วมบรรยายภายใต้หัวข้อพิเศษต่างๆ อย่างหัวข้อ “Thriving: Making Cities Green, Resilient, and Inclusive in a Changing Climate” ที่ได้รับเกียรติจาก Dr. Steven Rubinyi, Urban Development Specialist, the World Bank ซึ่งกล่าวถึงฐานข้อมูลเมืองอันเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเมือง ทำให้ทราบว่าเมืองมีลักษณะเป็นอย่างไร  ปัญหาใดของเมืองที่ต้องได้รับการแก้ไข การนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองทั้งพื้นที่หลักและพื้นที่โดยรอบ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเมืองบริเวณใกล้เคียงไปพร้อมกัน รวมไปถึงการก่อให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเมืองเช่นเดียวกัน และหัวข้อการบรรยายอย่าง“การขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่: บทเรียน นโยบาย และแผนการขับเคลื่อนของต่างประเทศและประเทศไทย” จากผู้แทนหน่วยงานต่างๆ อาทิ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat) สำนักงานกรุงเทพมหานคร Partnership and Engagement Specialist โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้ร่วมบรรยายได้สรุปประเด็นสำคัญของการขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ โดยได้ยกตัวอย่างการขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในต่างประเทศ การนำ SDG เข้าไปเป็นกรอบและเป็นเป้าหมายในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วมจากคนทุกกลุ่มในระดับท้องถิ่น การใช้เครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายของแผนฯ 13 หมุดหมายที่ 8 และกระบวนการมีส่วนร่วมสู่ระดับนโยบายของเมือง

           นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการเสวนาสาธารณะในหัวข้อ “ดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่: จากนโยบายสู่การขับเคลื่อนเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน” โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่ ได้แก่ นายกเทศมนตรีมหาสารคาม รองนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก กรุงเทพมหานคร องค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เข้าร่วมเสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยกล่าวถึงความสำคัญของดัชนีชี้วัดเมือง พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานถึงการนำตัวชี้วัดไปใช้ในการพัฒนาเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องทำให้เกิดเป็นแผนและนโยบายการพัฒนาเมือง รวมถึงการให้ข้อมูลเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ The Global Urban Monitoring Framework (UMF) เพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ที่เหมาะสมกับประเทศไทย

           เวทีสาธารณะนี้จัดขึ้นโดยให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประเด็นต่างๆได้ โดยได้รับความสนใจและมีผู้เข้าร่วมกว่า 150 ท่าน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการที่หน่วยงานต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญต่อดัชนีชี้วัดเมืองอันเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและการวางเป้าหมายของการสร้างเมืองน่าอยู่ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ และพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเมืองให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่ ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและสังคมของประชากรในพื้นที่ และมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคมของแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน

สถิติการเข้าชม