กระทรวง อว. โดย บพท. สานพลังภาคีร่วมมือไทย-จีน ขับเคลื่อนการขจัดความยากจน

เมื่อวันที่ 20-21 ก.ย. 2566 หน่วย บพท. ร่วมประชุมคณะกรรมการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อขยายผลความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 4 ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทยและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ห้องประชุม Ballroom 3 โรงแรม Royal Orchid Sheraton Hotel กรุงเทพมหานคร โดยมี ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. เป็นประธาน  H.E. Mr.Zhang Guangiun รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน และผู้บริหารระดับสูงจากทั้งสองประเทศเข้าร่วม งานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายผลการดำเนินความร่วมมือระหว่างสองประเทศ และหารือแนวทางการขยายความร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงเพิ่มโอกาสในการสร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาและเร่งการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ในสาขาเป้าหมายที่ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายในงานได้มีการจัด Working Group ใน 5 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ 1) การแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวัฒนธรรม 2) การถ่ายทอดเทคโนโลยี 3) การคมนาคมระบบราง 4) การขจัดความยากจนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 5) นิวเคลียร์ฟิวชัน

ดร.อโศก พลบำรุง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ หน่วย บพท. พร้อมด้วยคณะทำงาน “ขจัดความยากจนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ประกอบด้วย สอวช. และ วว. เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านขจัดความยากจนร่วมกับ Mr. Wang Qiang เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน, Mr. Zhang Hui รองผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีชนบทของจีน (Deputy director general, China Rural Technology Development Center: CRTDC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาความยากจนของจีนที่ทำวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และทำงานกับชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน นอกจากนั้นได้นำเสนอภาพรวมการทำงานของบพท. และการขับเคลื่อนงานขจัดความยากจนภายใต้แพลตฟอร์ม (Platform) ของ บพท. ในพื้นที่ 20 จังหวัด โดยมีมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ทำหน้าที่เป็น Change Agent ในการทำงานยกระดับเศรษฐกิจฐานรากที่ช่วยยกระดับรายได้ของชุมชน ทั้งนี้ จากการประชุมคณะทำงานย่อยได้มีความเห็นร่วมกันเสนอให้หน่วย บพท. เป็นแกนกลางประสานฝ่ายไทยกับ CRTDC ของฝ่ายจีน พร้อมกันนี้ได้พาคณะผู้แทนฝ่ายจีนศึกษาดูงานฝ่ายไทย “นวัตกรรมผ้าใยกล้วย” กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน จังหวัดปทุมธานี เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจการขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจฐานรากของ บพท. ที่สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ด้วยการมีส่วนร่วมของกลไกภาคีทั้งชุมชน บทบาทมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ที่มีองค์ความรู้และเทคโนโลยี เป้าหมายร่วมคือการพัฒนาให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และชุมชนท้องถิ่นโดยรวมสามารถพึ่งตนเองได้

ดร.อโศก กล่าวว่า การขจัดความยากจนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นจำเป็นต้องมีการผลักดันความ ร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขจัดความยากจนในระดับรัฐต่อรัฐ และการสร้างกลไกความร่วมมือของคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการขจัดความยากจนทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่ระดับนักวิจัยจนถึงนักศึกษา ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อขจัดความยากจน ด้านการพัฒนาตลาดสินค้า เพื่อกระจายรายได้ให้คนจนและชุมชนและด้านการพัฒนาการเกษตรเพื่อเป็นอุตสาหกรรมชุมชน รวมถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และศึกษาดูงาน โดยกำหนดทิศทางและพื้นที่ในอนาคตร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนกลไกภาคีเครือข่ายให้เกิดผลอย่างรูปธรรมความสำเร็จในการทำงาน การแก้ไขปัญหาความยากจนและดำเนินการโดยเร็วที่สุด

สถิติการเข้าชม