ม.กาฬสินธุ์ จัดงาน “มหกรรมนวัตกรรมแก้จนจังหวัดกาฬสินธุ์ ครั้งที่ 2” พร้อมเปิดตัวหลักสูตรนักบริหารจัดการงานวิจัยความยากจนเชิงพื้นที่ และการเป็นเจ้าของข้อมูล ด้วยการหนุนเสริมจาก บพท.

ในวันที่ 22 กันยายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. เข้าร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และแถลงข่าวเปิดตัวนักบริหารจัดการความยากจนเชิงพื้นที่ (Area Development Manager) และการเป็นเจ้าของข้อมูล (Local Data Ownership) ตามโครงการวิจัยพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ (SRA) ภายใต้โครงการพัฒนาและยกระดับแพลตฟอร์มการแก้ไขปัญหาความยากจนฯ ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ณ พิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ โดยได้รับเกียรติจาก นายสำเริง ม่วงสังข์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานพิธีเปิดงาน และ รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พร้อมทั้งผู้บริหารหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกว่า 400 คน ภายในงานได้มีการนำเสนอผลงานนิทรรศการความสำเร็จจากการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดกาฬสินธุ์ และภาคีเครือข่าย


ภายในมหกรรมแก้จนมีการสานพลังแก้ไขปัญหาควายากจนด้วยการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ 6 อำเภอเป้าหมายขจัดความยากจน 100% ระหว่างนายอำเภอ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และยังมีบันทึกข้อตกลงการสั่งซื้อผลผลิต (MOA) ระหว่างภาคเอกชนกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์อีกด้วย โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้อำนวยการหน่วย บพท. อธิการมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตขอนแก่น เป็นสักขีพยาน


นายสำเริง ม่วงสังข์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวถึง กลไกหลักการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนว่าคือคนและหน่วยงานในพื้นที่ ทั้ง อปท. ตั้งแต่ระดับ อบต. เทศบาล และ อบจ. โดยมีหน่วยงานภาครัฐช่วยกันขับเคลื่อน และที่สำคัญที่สุด คือ ภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ต้องเข้ามาช่วยยกระดับรายได้เพื่อให้คนกาฬสินธุ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ต้องเข้ามาสนับสนุนด้านวิชาการ องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม


รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานร่วมกับภาคส่วนราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคีเครือข่าย ที่ผ่านมาได้เกิดรูปธรรมความสำเร็จ (1) พัฒนาและยกระดับการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยช่วยเหลือให้คนยากจนมีงานทำ (2) พัฒนาระบบ KHM V.2 โดยนำเข้าข้อมูลครัวเรือน จำนวน 18 อำเภอ 135 ตำบล (3) ทำระบบข้อมูล “Data Ownership” เพื่อค้นหาข้อมูลแรงงานคนจน และในปี 2566 ม.กาฬสินธุ์ ได้ทำความร่วมมือกับ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ในการพัฒนาและยกระดับแนวทางการบูรณาการงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีของจังหวัด รวมทั้งขยายการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนครอบคลุมทุกตำบลใน 6 อำเภอขจัดความยากจน 100% จากทั้งหมด 18 อำเภอ โดยมีระบบการ Feedback loop นำข้อมูลคนยากจนออกจากระบบ ทั้งนี้ ได้จัดทำหลักสูตรในการสร้าง “นักบริหารจัดการงานวิจัยความยากจนเชิงพื้นที่” เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาความยากจน และคาดหวังว่าในระยะต่อไป จ.กาฬสินธุ์อาจจะหลุดพ้นจาก 10 จังหวัดยากจน และม.กาฬสินธุ์ได้กำหนดวิสัยทัศน์เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอันดับหนึ่งของประเทศในปี 2570 โดยงานวิจัยการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ให้บรรลุวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยให้เป็นรูปธรรมและบรรลุเป้าหมาย

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา กล่าวว่า ม.กาฬสินธุ์ ได้ขับเคลื่อนกลไกความร่วมมือและบูรณาการข้อมูลที่ชี้ให้เห็นปัญหาของความยากจนและส่งต่อความช่วยเหลือ จึงทำให้โอกาสและทรัพยากรสามารถส่งต่อถึงกลุ่มครัวเรือนยากจนล่างสุด จนเกิดนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ “การขจัดครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น” โดยปัจจุบันมีงบประมาณจำนวนมากไปสู่พื้นที่ จึงเป็นโจทย์ต่อไปว่า เราจะสามารถส่งต่อทรัพยากร นโยบาย งบประมาณ ให้ถึงกลุ่มครัวเรือนยากจนได้อย่างไร และการแก้ไขปัญหาความยากจนได้ ต้องเป็นคนในพื้นที่ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง โดยเป็นเจ้าของปัญหาและข้อมูล และยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วย บพท. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมมือกับ ม.กาฬสินธุ์และกลไกจังหวัด ร่วมกันจัดงาน“งานมหกรรมแก้จนคนกาฬสินธุ์ ครั้งที่ 2” และจัดตั้ง “หลักสูตรนักบริหารความยากจนเชิงพื้นที่” เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่จัดทำหลักสูตรดังกล่าวขึ้นมา และเป็นตัวอย่างโมเดลการแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศไทยต่อไป

สถิติการเข้าชม