บพท.บรรลุความร่วมมือกับ (WorldBank) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ระดมความคิด-แลกเปลี่ยน “เพื่อการพัฒนาเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืน”

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับธนาคารโลก (WorldBank) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานการประชุมระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนชุดประสบการณ์การเผยแพร่ผลการศึกษา “การปลดล็อคศักยภาพเมืองและการระดมทุนเพื่อการพัฒนาเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืน”และการประชุมโต๊ะกลม “การสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตเมืองและความยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและโครงการเมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City Program)” ณ ห้องประชุมพญาไท 3-4 ชั้น 6 โรงแรมอีสตินแกรนด์ พญาไท กรุงเทพมหานคร โดยมี รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร และ Mr. Fabrizio Zarcone Country Manager for Thailand, the World Bank กล่าวต้อนรับและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน

ภายในงานมีกิจกรรมการบรรยายพิเศษ จาก แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และการนำเสนอผลการศึกษา “การปลดล็อคศักยภาพเมืองและการระดมทุนเพื่อการพัฒนาเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืน” โดย Mr. Steven Rubinyi Task Team Leader, the World Bank ซึ่งนอกจากกิจกรรมการบรรยายพิเศษดังกล่าว ยังมีการประชุมโต๊ะกลมในหัวข้อ “การสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตเมืองและความยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และโครงการเมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City Program)” จาก ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถาน “ธัชภูมิ” หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) พร้อมกับผู้ทรงเกียรติจากหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับงานกว่า 80 คน

โดยงานนี้เกิดจากการบูรณาการความร่วมมือภายใต้โครงการ “การประเมินแหล่งเงินทุน สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาเมือง” ประจำปีงบประมาณ 2565 และโครงการ “การพัฒนา เศรษฐกิจชุมชน/ท้องถิ่นประเทศไทยอย่างยั่งยืน ผ่านการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตเมืองและความยั่งยืน และการพัฒนาพื้นที่เมืองชายแดน” ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาที่เกิดจากการดำเนินงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมงานให้เกิดความเข้าใจในกลไกสำหรับการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตเมืองและความยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และการพัฒนาเมืองไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City) รวมถึงสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเมืองด้านการพัฒนาเชิงการขนส่ง (TOD) การพัฒนาศักยภาพการสร้างมูลค่าของโครงการ (Revenue Stream) ผ่านแนวคิดการระดมทุนจากการพัฒนาเชิงการขนส่ง และการพัฒนาโครงการคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Program Development) ที่ทำให้เกิดการลงทุนได้จริง พร้อมส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้เกี่ยวข้อง เกิดการรับรู้นวัตกรรมใหม่ในการระดมทุนและการจัดหาเงินทุน ที่เมืองหรือองค์กรปกครองท้องถิ่นสามารถใช้เพื่อปิดช่องว่างการลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมให้เมืองต่างๆ มีการวางแผนสามารถดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนที่ สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ และสังคม (Spatial Planning) อย่างเป็นรูปธรรม

สถิติการเข้าชม