จังหวัดสุรินทร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จัดเวทีบูรณาการความร่วมมือเพื่อขจัดความยากจน โดยมี บพท. สนับสนุนทุนวิจัยสร้างแพลตฟอร์มขจัดความยากจนระดับจังหวัด

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 นำโดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำจังหวัดสุรินทร์ ภายใต้โครงการการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ โดยได้รับเกียรติจาก นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานพิธีเปิดงาน พร้อมทั้งเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ มหานิกาย-ธรรมยุตินิกาย คณะสงฆ์ ผู้บริหารหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เข้าร่วมกว่า 200 คน

ภายในงานได้มีการนำเสนอรูปธรรมความสำเร็จของโมเดลแก้จน และการบรรยายพิเศษ โดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. ในหัวข้อ “การขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยการเพิ่มโอกาสและลดช่องว่างของการเข้าถึงการพัฒนาอาชีพ การศึกษาเรียนรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” การขับเคลื่อนงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของ บพท. ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการยกระดับกลไกความร่วมมือเพื่อขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ด้วยการสร้างกลไกความร่วมมือในระดับพื้นที่และส่วนกลาง ในการช่วยเหลือครัวเรือนยากจนให้ครอบคลุมทุกมิติ ให้กลุ่มครัวเรือนยากจนสามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือนยากจนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนด้วยการพัฒนาศักยภาพ อาชีพและยกระดับรายได้คนจนที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ รวมถึงสร้างโอกาสในการยกระดับฐานะทางสังคม (Social Mobility) ของครัวเรือนยากจนอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะที่ นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้กล่าวถึงการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำจังหวัดสุรินทร์ ด้วยระบบข้อมูลชี้เป้าอย่างมีส่วนร่วม Surin Poverty Database ทำให้เกิดการกำหนดเป้าหมายร่วม 10,800 ครัวเรือนที่จะได้รับความช่วยเหลือ โดยมอบหมายให้นายอำเภอทั้ง 17 อำเภอเป็น Area manager ที่บูรณาการความช่วยเหลือจากกลไกภาคีในพื้นที่ และมีระบบติดตามเพื่อประเมินผลความช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการศึกษาเป็นทางออกระยะยาวไม่ให้เกิดคนจนข้ามรุ่น รวมทั้งพลังบุญจากสถาบันศาสนาเป็นส่วนสำคัญ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

จากรูปธรรมความสำเร็จดังกล่าวข้างต้นจึงถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่จะยกระดับเป็นพื้นที่จังหวัดยุทธศาสตร์ (SRA) ของการวิจัย ของหน่วย บพท. ต่อไป

สถิติการเข้าชม