บพท. ลุย พาสื่อลงใต้ หนุน “ล้งชุมชุน” เครือข่ายทุเรียนขนาดใหญ่กว่า 400 สวน ในยะลา พร้อมยกระดับห่วงโซ่มูลค่า “ผึ้งชันโรง”

บพท.สานต่อการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย สู่การนำไปใช้ในชุมชนจริง เชื่อมกลไกเครือข่ายความร่วมมือ สร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ผลักดัน “ล้ง” จากชุมชน เพิ่มรายได้กว่า 300 ล้านบาท พร้อม หนุน การยกระดับ “ผึ้งชันโรง” หลังช่วยชุมชนเกษตรกรรอดพ้นจากวิกฤติโควิด

เมื่อระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ นำโดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรศึกษาดูงาน “โครงการทุเรียน-ผึ้งจิ๋วชันโรง กับการยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมเศรษฐกิจฐานราก จังหวัดชายแดนใต้”ณ จังหวัดยะลา

โดยกิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากหน่วย บพท. ที่ทำหน้าที่ในการจัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น มุ่งหวังให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ขับเคลื่อนให้กลไกในพื้นที่มีความเข้มแข็งพร้อมกับการสร้างผู้นำและการพัฒนาคนในพื้นที่ให้สามารถจัดการตนเองและสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้ ซึ่งจังหวัดยะลาเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม สามารถสร้างกลไกสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ เสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชนในการเรียนรู้และรับปรับใช้นวัตกรรม และนำความรู้ไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงและจัดการปัญหาในชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรในครั้งนี้ เพื่อเป็นการตีแผ่ให้เห็นถึงกระบวนการในการพัฒนาศักยภาพและยกระดับห่วงโซ่มูลค่าของเกษตรกรในพื้นที่

กิจกรรมในครั้งนี้เริ่มต้นจากการเข้าเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ (ธารโต) ต้นแบบโมเดลบริหารจัดการทุเรียนอย่างครบวงจร ซึ่งมีการสานพลังความรู้-หลักศาสนาเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม โดยหน่วย บพท.ได้ให้การสนับสนุนด้วยการมอบชุดความรู้จากงานวิจัย ตลอดจนกระบวนการวิจัยที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และบริบทพื้นที่เข้าไปสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ทุเรียนในจังหวัดชายแดนใต้ ควบคู่ไปกับการเสริมพลังให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนรวมกลุ่มกันในลักษณะเครือข่ายเป็นวิสาหกิจชุมชน เชื่อมโยงกับกลไกรัฐ และกลไกธุรกิจ กระทั่งส่งผลให้ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดชายแดนใต้ ผลของการพัฒนาคุณภาพทุเรียนทำให้เกษตรกรขายทุเรียนคุณภาพได้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าเดิม 2-3 เท่าตัว สร้างรายได้ 300 ล้านบาท ในปี 2565 นอกจากนี้ยังลงพื้นที่เข้าเยี่ยมชมกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งชันโรงบ้านบือมังและวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งชันโรงจังหวัดยะลาและนราธิวาส ชุมชนเกษตรกรอีกแห่งที่ได้รับการมอบชุดความรู้จากงานวิจัย ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบพท. มาเป็นรากฐานในการพัฒนาศักยภาพและยกระดับห่วงโซ่มูลค่าของผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ให้ครัวเรือนและชุมชนจากผลผลิตผึ้งชันโรงเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยมาใช้ขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น ยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรในพื้นที่ และเพื่อแสดงพลังของภาคีเครือข่ายที่ช่วยผลักดันให้เกิดความสำเร็จ การเพิ่มขึ้นของรายได้ และการนำเอาความรู้ร่วมกับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายรอบด้าน มาประยุกต์ใช้เพื่อให้คุณภาพชีวิตของชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจชุมชน และเศรษฐกิจฐานรากของเกษตรกรไทย

สถิติการเข้าชม