บพท. จับมือภาคีเครือข่ายรอบด้าน แถลงความร่วมมือพร้อมแสดงผลงาน “เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)”

จบไปแล้วสำหรับงานอันยิ่งใหญ่อย่าง Learning City Days “นิทรรศการเมืองแห่งการเรียนรู้บนพื้นที่ของคนทุกช่วงวัย” ที่จัดขึ้นโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคม 2566 ณ Na at Bangkok1899 บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน

งานนี้ถูกจัดขึ้นโดยฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ หน่วย บพท. ได้พัฒนากรอบการวิจัย “เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)” เพื่อยกระดับเมืองแห่งการเรียนรู้ด้วยการสร้างเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของประเทศไทย เพื่อเข้าสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกตามแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC) โดยเกิดกลไกความร่วมมือระดับพื้นที่ ที่เกิดจากนักจัดการการเรียนรู้ในเมือง (City Learning Administrator) เกิดนิเวศการเรียนรู้ของเมือง (City Learning Ecology) ที่ประกอบด้วย พื้นที่การเรียนรู้ ตัวความรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งมีเป้าหมายและผลเชิงประจักษ์คือเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และเมืองอัจฉริยะ (Livable & Smart City) ที่มุ่งเน้นพัฒนาเมืองศูนย์กลางในภูมิภาคและเชื่อมโยงความเจริญสู่ชนบท มีแผนการสร้างงานในเขตเมืองหลักและเมืองโดยรอบเกิดการพัฒนาและกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่นั้น ๆ และที่ผ่านมาหน่วย บพท. ได้ขับเคลื่อนพื้นที่เมืองแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการวิจัยจำนวนทั้งสิ้น 29 แห่งทั่วประเทศ และผลักดันไปสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโกในพื้นที่จังหวัดพะเยา และพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ถือเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ซึ่งภายในงานจัดขึ้นพร้อมกับกิจกรรมอันหลากหลาย ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทั้งความรู้เชิงวิชาการ จากเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการและงานเสวนาในหัวข้อต่างๆ การนำเสนอต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ประเทศไทยจากฐานงานวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งได้ความเพลิดเพลินจากการแสดงดนตรีพื้นบ้านที่ถูกเตรียมมาเพื่องานนี้ เช่น การแสดงดนตรีพื้นบ้านโปงลาง การแสดงชุด “รื่นเริงบันเทิงกลองยาว” เป็นต้น นอกจากยังสามารถเข้าชมผลงานประจำบูธต่างๆ ภายในงานที่ร่วมกันนำเสนอ “เมืองแห่งการเรียนรู้บนพื้นที่ของคนทุกช่วงวัย” ที่มาพร้อมกับกิจกรรม Interactive ภายในบูธ เพื่อทำให้ผู้ที่เข้าร่วมงานได้รู้สึกมีส่วนร่วมไปด้วย

นอกจากกิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมา งานนี้ยังพิเศษที่ เป็นเวทีแถลงความร่วมมือและเป้าหมายร่วมของเมืองแห่งการเรียนรู้ จากตัวแทนเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ ทั้ง องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประเทศไทย,หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัด กระทรวงศึกษาธิการ, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), อุทยานการเรียนรู้ TK Park, องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และภาคีเครือข่าย พร้อมประกาศยกระดับโจทย์กรอบการวิจัยเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ปีงบประมาณ 2567 อีกด้วย

ซึ่งกิจกรรมที่ในครั้งนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงพลังและความสำเร็จของการนำองค์ความรู้จากฐานงานวิจัยไปขับเคลื่อนในพื้นที่ สะท้อนถึงทิศทางการขับเคลื่อนเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติ ร่วมกับภาคีเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้รอบด้านแล้วนั้น ยังนำไปสู่การผลักดันวาระเมืองแห่งการเรียนรู้ให้เป็นวาระของประเทศ วาระของทุกคน ทุกช่วงวัย บนพื้นที่ของการเรียนรู้ร่วมกัน

สถิติการเข้าชม