บพท. จัดแสดงผลงานพร้อมถวาย booklet “สู้ชนะความจนฯ” แก่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงาน Thailand Research Expo 2023

วันที่ 11 สิงหาคม 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จเข้าร่วมและทอดพระเนตรผลงานจากหน่วยงานชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของประเทศไทยภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบพท. ได้รับเกียรติกล่าวถวายรายงานเกี่ยวกับผลงานและความเป็นมาของ บพท. พร้อมถวายหนังสือ “สู้ชนะความจน บนฐานพลังความรู้ พลังภาคี” ซึ่งเป็นหนังสือที่แสดงถึงกระบวนทัศน์ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้วยการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง

งาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)” เป็นเวทีระดับชาติที่นำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม/ชุมชน และพาณิชย์/อุตสาหกรรม โดยกำหนดจัดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 18 ที่มาพร้อมกับธีมงาน “วิจัยไทยก้าวไกล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 11 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ภายในงานมีการนำเสนอผลงานวิชาการ นวัตกรรมและเทคโนโลยีจากหน่วยวิจัย มหาวิทยาลัยและองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่างท่วมท้น ซึ่งหน่วย บพท.จึงได้โอกาสในการนำเสนอตัวตนผ่านผลงานที่ได้รับการสนับสนุนจากบพท.ที่ในปีนี้ได้แสดงออกมาในธีมของ “พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำ” โดยชูแพลตฟอร์มงานขจัดความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ที่มีการบูรณาการการมีส่วนร่วมของพหุภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ ด้วยองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ในการวิเคราะห์และสังเคราะห์จนเกิดแนวทางห่วงโซ่คุณค่าเพื่อคนจน Pro-poor Value Chain ซึ่งได้แนวคิดจากแพลตฟอร์ม เกื้อกูลLEs ที่พัฒนาขีดความสามารถของ Local Enterprises บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น การจ้างงานในพื้นที่ เกิดการกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานรากและเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ดังเคสตัวอย่าง “ไผ่” ที่มีการยกระดับห่วงโซ่คุณค่าไผ่ประเทศไทยผ่านกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจไผ่ ซึ่งได้รวบรวมผลงานต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการห่วงโซ่ความสำคัญของการเพิ่มมูลค่า “ไผ่ไทย” มาจัดแสดงในงาน อาทิ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจากเศษไผ่เหลือทิ้ง ผลิตภัณฑ์ทรายแมวจากเศษผงไผ่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสารสกัดไผ่ นวัตกรรมผ้าไม่ทอจากเส้นใยไผ่ในผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ทางการแพทย์ เป็นต้น โดยนอกจากจะมีการแสดงผลงานด้านต่างๆแล้วนั้น ยังเปิดโอกาสให้ทุกๆหน่วยงาน ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดเพื่อชิงรางวัลจากงานในด้านต่างๆ ซึ่งงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนจาก หน่วย บพท.ได้เข้าร่วมและรับรางวัลอันทรงคุณค่ากลับไป

นอกจากจะมีเวทีให้แสดงผลงานแล้วนั้น ภายในงานยังมีการจัดเสวนาที่น่าสนใจมากมาย ที่หน่วยบพท.ได้ร่วมจัดเสวนาภายใต้หัวข้อ“การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาดตลอดระบบห่วงโซ่คุณค่าไผ่ประเทศไทยผ่านกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจไผ่” โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานอย่างท่วมท้น ก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือที่จะช่วยให้ธุรกิจไผ่ในไทยสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน

สถิติการเข้าชม