บพท. ร่วมกับ กทม. คลายสงสัย!! สถานการณ์การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง “กระทบ”รายได้ท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่าย ได้ร่วมจัดเวทีสาธารณะเรื่อง “ชำแหละกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและผลกระทบต่อรายได้ท้องถิ่น” ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. กล่าวต้อนรับและร่วมกันให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกรุงเทพมหานคร
ภายในงานมีการจัดเสวนาร่วมกับบรรยายความรู้ด้านภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งการเปิดข้อมูลผลการวิจัยเรื่องการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในหัวข้อต่าง ๆ ทั้งการวิเคราะห์ปัญหาของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพร้อมข้อเสนอแนะ โดย รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและยกระดับขีดความสามารถในการจัดการภาครัฐและท้องถิ่น หน่วย บพท. การจัดเก็บภาษีเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในประเทศไทย โดย ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคุณโอฬาร อัศวพลังกูล ผู้อำนวยการกองรายได้ ผู้แทนจากสำนักการคลัง นอกจากนี้ยังมีช่วงดี ๆ จาก ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถานธัชภูมิเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ที่ได้ร่วมสังเคราะห์บทเรียน และข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับอนาคต
การจัดเวทีสาธารณะในครั้งนี้ทำให้ทราบและตระหนักถึงข้อเท็จจริงจากการวิเคราะห์สาเหตุสำคัญที่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทำให้รายได้ของท้องถิ่นลดลงเกิดจากการกำหนดคำนิยามสิ่งปลูกสร้างที่แคบลงกว่าเดิม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากที่เคยเสียภาษีท้องถิ่นได้รับการยกเว้นในปัจจุบัน การยกเว้นภาษีให้กับกิจการหลายประเภท ที่ควรต้องจ่ายภาษีจากการประกอบธุรกิจห้องเช่า/หอพัก หรือกรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่อนุญาตให้ปรับเปลี่ยนแบบชั่วคราวไปทำการเกษตรจึงเสียภาษีลดลง การที่กฎหมายกำหนดวิธีประเมินมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และแนวทางบริหารจัดเก็บภาษีที่ยุ่งยาก ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีข้อจำกัดในการบริหารจัดเก็บภาษีให้ครบถ้วนในกำหนดเวลา ซึ่งสะท้อนว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่งผลกระทบต่อรายได้ที่ลดลงของ อปท. ในเขตเมืองหรือพื้นที่เศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และยังถือเป็นโอกาสในการให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลและส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยอุดช่องว่างที่ทำให้เกิดการเลี่ยงภาษีอย่างไม่เป็นธรรม สร้างความสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจ และการนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกิดการกระจายภาระภาษีอย่างเป็นธรรม และไม่ส่งผลทำให้รายได้ของ อปท. ลดลงอย่างไม่สมควร

สถิติการเข้าชม