บพท. “สู้ชนะความจน : บนฐานพลังความรู้ พลังภาคี” สู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้จัดงานสัมมนาพหุภาคีแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ ภายใต้หัวข้อ “สู้ชนะความจน : บนฐานพลังความรู้ พลังภาคี” โดยในการนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งผู้บริหารหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม เครือข่ายมหาวิทยาลัย คณะกรรมการหน่วย บพท. และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมรับฟังแนวทางแก้จนลดเหลื่อมล้ำกว่า 430 คน

งานสัมมนาในครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อเสนอรูปธรรมความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นวาระสำคัญที่เป็นอุปสรรคการพัฒนาประเทศ ที่มีการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการร่วมคิด ร่วมลงมือทำเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่เป้าหมายทั้ง 20 จังหวัด โดยมีมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่เป็นแกนนำการขับเคลื่อน เปรียบเหมือน “สารตั้งต้น”  และต่อยอด ขยายผลให้เกิดประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเพื่อการพัฒนาประเทศ

ภายในงานมีกิจกรรมทั้งการอภิปรายภายใต้หัวข้อ “ชนะความจน: บนฐานพลังความรู้ พลังภาคี” โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ พิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและยกระดับฐานะทางสังคม ระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด (ลำปาง กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด พัทลุง ปัตตานี และยะลา) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ (มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา) การนำเสนอข้อค้นพบสำคัญจากงานวิจัยเพื่อเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย กลไกและกระบวนการขับเคลื่อนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน (Provincial Poverty Alleviation Sandbox : PPAS) แบบบูรณาการ รวมถึงการจัดนิทรรศการเพื่อนำเสนอภาพรวมและผลงานพัฒนาที่สำคัญ โดยกิจกรรมทั้งหมดนี้จะช่วยยกระดับองค์ความรู้ สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตลอดจนบูรณาการความรู้เพื่อนำสู่การแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ

ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายแก้ไขความยากจนและลดความเหลื่มล้ำ 8 ประการ สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดข้อเสนอเชิงนโยบาย และแนวทางมาตรการแก้ปัญหาความยากจนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนี้

1) ต่อยอดการทำงานศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ให้ทำหน้าที่เป็นกลไกบูรณาการความร่วมมือ แบบต่อเนื่อง และควรเพิ่มหน่วยงานเจ้าภาพเพื่อร่วมขับเคลื่อน ได้แก่ องค์กรชุมชน ภาคประชาชาสังคม และบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา/มหาวิทยาลัย
2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรได้รับการยกระดับเป็นหน่วยงานเจ้าภาพ เพื่อคุณภาพและประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในแต่ละพื้นที่
3) การจัดสวัสดิการภาครัฐ ควรจัดสวัสดิการแบบมุ่งเป้า โดยใช้ข้อมูลจากระบบข้อมูลชี้เป้าที่มีความแม่นยำ

4) เชื่อมโยงระบบข้อมูลครัวเรือนของประเทศ โดยให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ร่วมบริหารจัดการระบบข้อมูล และปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยเป็นปัจจุบันตลอดเวลา เพื่อประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาความจน และคุ้มค่างบประมาณ

5) สร้างเครือข่าย และกลไกกระบวนการช่วยเหลือคนจน และติดตามประเมินผล ภายใต้พลังความรู้จากงานวิจัยและพลังการมีส่วนร่วมของภาคีในพื้นที่ และมีการบริหารจัดการโดยคนในพื้นที่

6) เสริมพลัง โดยให้คนยากจนลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของปัญหาความยากจนด้วยตนเอง
7) ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แก่หน่วยงาน องค์กรธุรกิจที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเกื้อกูลคนจน และ
8) พัฒนาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่มหาวิทยาลัย ให้เป็นแหล่งจำหน่าย หรือกระจายผลิตผลคนจน

สถิติการเข้าชม