รมว.อว. “เอนก” หนุนศิลปะ อารยะ สุนทรียะ สร้างเศรษฐกิจไทยด้วยการ แปร “คุณค่า” ของวัฒนธรรมเป็น “มูลค่า” สร้างต้นแบบสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากทั้งประเทศ
บพท. นำโดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ จัดงานมหกรรมฟื้นใจเมือง “กินของหรอย คอยของแต่แรก ร่วมแลกวัฒนธรรม แล้วมาเขารำโนราห์” สะท้อนวัฒนธรรมชาวนครศรีธรรมราช ร่วมกับภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมทุ่งสง ณ บริเวณถนนสายวัฒนธรรมเมืองทุ่งสง (หลาดชุมทางทุ่งสง) เทศบาลเมืองทุ่งสง โดยได้รับการสนับสนุนจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานในวันที่ 12 มีนาคม 2566 และมี ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถานธัชภูมิเพื่อการพัฒนาพื้นที่ กล่าวถึงเรื่อง “ทิศทางการขับเคลื่อนวิทยสถาน “ธัชภูมิ” เพื่อการพัฒนาพื้นที่และการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรม”
งานฟื้นใจเมือง ณ ทุ่งสงเป็นการนำทรัพยากรทุนทางวัฒนธรรมแปรมาเป็นรายได้ ช่วยฟื้นวัฒนธรรมพื้นถิ่นดั้งเดิมในพื้นที่ที่สูญหายให้หวนคืน และถือเป็นต้นแบบของผลงานวิจัยที่มีเป้าหมายคือสร้าง “เศรษฐกิจท้องถิ่น” สร้างรายได้ให้กับเจ้าของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง สามารถขับเคลื่อนขยายผลต่อยอดทั่วประเทศด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ของวิทยสถาน “ธัชภูมิ” โดย หน่วย บพท. ที่พร้อมจะหนุนเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ด้วยการใช้แนวคิดพัฒนาเศรษฐกิจจากการบริหารแบบบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนให้ยั่งยืนด้วยการประยุกต์ใช้งานวิจัยจากสถาบันการศึกษา และภูมิปัญญาในท้องถิ่น
ภายในงานมีการเผยแพร่วัฒนธรรมอันทรงเสน่ห์ผ่านกิจกรรมและงานศิลปะต่างๆ ทั้งการประดับเมืองโดยเน้นชูอัตลักษณ์ ความเป็นทุ่งสง ด้วยการประดับไฟโดยได้แรงบันดาลใจมาจากสีของลูกปัดมโนราห์ การปลุกหอนาฬิกา ขบวนรถไฟประวัติศาสตร์หมายเลข 277 (จำลอง) และอาคารบ้านเรือนให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วยเทคนิค Ryhtm of Light การเดินขบวนพาเหรดหุ่นทองสูง ขบวน Fancy Masks สีสันสดใส ขบวนชุดผ้าปาเต๊ะ ผ้าบาติก ผ้าพื้นถิ่นภาคใต้ นอกจากนี้ยังมีการแสดงในช่วงพิธีเปิดจากคุณวินัย พันธุรักษ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (การขับร้องเพลงไทยสากล) ประจำปี 2562 ประกอบจินตลีลา ตลอดจนการแสดงทางวัฒนธรรมภาคใต้จากนักเรียนโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองทุ่งสง การแสดงดนตรีโฟล์คซอง และการออกร้านจำหน่ายสินค้าของผู้ค้าหลาดชุมทางกว่า 150 ร้านค้า
โดยพื้นที่วัฒนธรรมหลาดชุมทางทุ่งสง ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมเปิดพื้นที่ศิลปะวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่องรวม 219 ครั้ง มีจำนวนผู้ประกอบการวัฒนธรรมเข้าร่วมโครงการกว่า 231 ร้าน เกิดรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 107.9 ล้านบาท ค่า ROI 18.51 % ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ทุ่งสงจะไม่ใช่เมืองศิลปวัฒนธรรมโดยตรง แต่มีศักยภาพพร้อมจะเป็นศูนย์กลางพัฒนางานด้านนี้ โดยใช้การฟื้นทุนทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า ทำให้คนเข้าใจในรากเหง้าของตนเองมากยิ่งขึ้น ด้วยการแปร “คุณค่า” ของงานศิลปวัฒนธรรมปักษ์ใต้เป็น “มูลค่า” สามารถสร้างสำนึกรักษ์ในถิ่นฐานให้คนกลับสู่ถิ่น ซึ่งควรค่าที่จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่ที่มีรายได้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเมืองต่อไป