ปริทรรศน์คุณค่าร่วมสู่การสร้างวัฒนธรรมรายได้ “ฟื้นใจคน พื้นใจเมือง ฟื้นวิถี สร้างเศรษฐกิจพื้นที่”

มหกรรมฟื้นใจเมือง @ กาฬสินธุ์

ปริทรรศน์คุณค่าร่วมสู่การสร้างวัฒนธรรมรายได้ “ฟื้นใจคน พื้นใจเมือง ฟื้นวิถี สร้างเศรษฐกิจพื้นที่”

หน่วย บพท.มีส่วนสำคัญในการจัดการให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพื้นที่ด้วยทุนวัฒนธรรมร่วมกับภาคีเครือข่ายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 (ตั้งแต่อยู่ สกว.เดิม) จนเกิดเป็นกระแสการขับเคลื่อนของสังคมไทยในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลของการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม เห็นการทำงานเชิงแนวคิดหลักการและกระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ หน่วย บพท. จึงร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่กว่า 42 แห่ง เครือข่ายองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่นและศิลปินท้องถิ่นสร้างรูปธรรมความสำเร็จเกิดย่านวัฒนธรรมและการสร้างเศรษฐกิจรายได้จากฐานทุนวัฒนธรรมในพื้นที่ 18 กลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ สร้างผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมมากกว่า 6,000 ราย เกิดเศรษฐกิจมวลรวมมากกว่า 400 ล้านบาท

จากรูปธรรมการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมที่ผ่านมา จึงเกิดเป็นงาน “ฟื้นใจเมือง” ใน 4 ภูมิภาคโดยแนวคิดของการ “ฟื้นใจเมือง” คือ การใช้กระบวนการวิจัยและนวัตกรรม “ฟื้นใจคน” ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม ใช้กระบวนการสืบค้นรากเหง้าประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ประเพณีที่สำคัญ นำมาพูดคุยด้วยกระบวนการวิจัยที่เรียกว่า “ปริทรรศน์คุณค่าร่วม” เมื่อเราฟื้นใจคนให้เห็นรากเหง้า เห็นที่มาที่ไปของตัวเอง เห็นความภูมิใจ ก็จะเกิดความรักบ้านรักเมือง รวมถึงเกิดความสำนึกรักษ์ท้องถิ่นขึ้นตามลำดับ

ดังนั้น การร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและศิลปินพื้นบ้าน รวมถึงประชาคมที่อยู่ในชุมชน รวมตัวกันเป็นกลไกการบริหารจัดการทุนวัฒนธรรมที่เรียกว่า “ประชาคมวัฒนธรรม” เมื่อเห็นตัวตนของตัวเอง เห็นที่มาที่ไปของรากเหง้าแล้วนั้น ก็จะเข้าสู่กระบวนการ “สร้างวัฒนธรรมรายได้” จากการนำเสนอตัวตนที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง เราเรียกกระบวนการนี้ว่า “การขับเคลื่อนให้เกิดมูลค่าใหม่” ผลตอบรับที่ได้จากการดำเนินการออกมาในรูปแบบตลาดวัฒนธรรม ย่านวัฒนธรรม สินค้าและบริการทางวัฒนธรรม รวมถึงผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม โดยผ่านกระบวนการร่วมกันคิด ร่วมมือกันจัดตั้ง การกำหนดกติการ่วมกัน และการนำเสนอ รวมถึงการรักษาไว้ด้วยประชาคมวัฒนธรรมของตนเอง

แนวคิดหลักที่สำคัญของงานนี้คือ การสื่อสารคุณค่า การสร้างมูลค่าและการขับเคลื่อนให้เกิดแรงบันดาลใจ หมายถึงการนำเด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ที่เป็นรากเหง้าของตัวเอง ในรูปแบบการบริการทางวัฒนธรรม เช่น การแสดงดนตรี ศิลปะและการแต่งกาย รวมถึงการเป็นผู้ประกอบการวัฒนธรรมตั้งแต่เด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กและเยาวชนเกิดความภาคภูมิใจ มั่นใจ และพร้อมที่จะอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นรากเหง้าของตัวเอง และเกิดความรักบ้านรักเมืองต่อไป ซึ่งงานทั้งหมดก็จะเกิดการขับเคลื่อนด้วยกลไกและความร่วมมือของประชาคมในพื้นที่ และที่สำคัญยังสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างรายได้และสร้างความยั่งยืนได้ด้วยตัวชุมชนเอง

การทำงานที่กาฬสินธุ์เกิดจากมหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมกับเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ โดยท่านนายกจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ ก่อให้เกิดประชาคมวัฒนธรรมที่เกิดจากการรวมตัวของชุมชนในพื้นที่ออกมาเป็นรูปธรรมความสำเร็จของย่านวัฒนธรรม “ตลาดริมน้ำปาว” บริเวณโค้งแก่งสำโรง เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ในปัจจุบันได้เกิดการฟื้นรากเหง้าประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และนำมาเสนอมูลค่าใหม่เป็นวัฒนธรรมที่สร้างรายได้ เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ทั้งประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ที่บ่งบอกตัวตนและอัตลักษณ์ของลาวเวียง ที่สืบเชื้อสายมาจากพระยาชัยสุนทร (ท้าวโสมพะมิตร) ผู้ก่อตั้งเมืองกาฬสินธุ์และเป็นเจ้าเมืองกาฬสินธุ์คนแรก ตั้งแต่ปี พศ. 2336 รวมถึงวิถีชีวิต ทั้งการแต่งกายที่เป็นอัตลักษณ์ด้วยผ้าไหมแพรวา ที่โด่งดังไปทั้งประเทศ และอาหารการกิน เป็นที่มาของการนำเสนอเพื่อสร้างเศรษฐกิจรายได้ผ่านตลาดวัฒนธรรมที่จัดมาอย่างต่อเนื่องรวม 104 ครั้ง กิจกรรมฟื้นประเพณีฯ 12 ครั้ง มีผู้ประกอบการเชิงวัฒนธรรมเข้าร่วมกว่า 158 ร้าน เกิดรายได้หมุนเวียนแก่คนในพื้นที่กว่า 17,930,249 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.6 พันบาท/ครัวเรือน/เดือน

การเรียนรู้รากเหง้าประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และนำเสนอตัวตนวิถีชีวิตของลาวเวียง
ผ่านการแต่งกายและการฟ้อนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดกาฬสินธุ์

การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการสื่อสารคุณค่าด้วยการนำเสนอประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์
เพื่อให้เกิดการสืบสานและสร้างแรงบันดาลใจ

การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการสื่อสารคุณค่าด้วยการนำเสนอประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์
เพื่อให้เกิดการสืบสานและสร้างแรงบันดาลใจ

เกิดตลาดเชิงวัฒนธรรมจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่
สร้างรายได้และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน

เกิดกติการ่วมของประชาคมโดยกำหนดให้มีการจำหน่ายสินค้าเชิงวัฒนธรรม ที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ร่วมด้วย

กลไกเชิงนโยบายทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ นำโดย
ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. และนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์

กลไกสำคัญที่มีส่วนร่วมในขับเคลื่อนในพื้นที่ นำโดย
ดร.ธนภณ วัฒนกุล ผู้เชี่ยวชาญ นายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ และผศ.ดร.วิชยุทธ จันทะรี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

กลไกสำคัญที่มีส่วนร่วมในขับเคลื่อนในพื้นที่ นำโดยสมาคมศิลปินอีสานอาจารย์ศิลปิน ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน จากมหาวิทยาลัยศิลปากร

กลไกสำคัญที่มีส่วนร่วมในขับเคลื่อนในพื้นที่ทั้งหน่วยงานในระดับนโยบาย ระดับมหาวิทยาลัย ตลอดจนระดับหน่วยงานระดับพื้นที่

บทความโดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา

สถิติการเข้าชม