บพท. ร่วมกับเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์พร้อมเครือข่ายมหาวิทยาลัย เครือข่ายภาคประชาสังคม และเครือข่ายศิลปิน ชู “มหกรรมฟื้นใจเมือง” สืบสานวัฒนธรรม สร้างเศรษฐกิจในท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาะดับพื้นที่ (บพท. ) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร สมาคมเพื่อการพัฒนาศิลปะและหัตถศิลป์ไทย เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่กาฬสินธุ์ จัดงาน “มหกรรมฟื้นใจเมือง “ภูมิถิ่น แก่งสําโรง โค้งสงเปือย” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว. กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และมี ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ เข้าร่วมงาน
การจัดมหกรรมฟื้นใจเมืองในครั้งนี้เป็นการนำองค์ความรู้ด้านทุนทางวัฒนธรรมชุมชนของชาวกาฬสินธุ์ที่มีคุณค่า นำมาสร้างสรรค์ ต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ทั้งเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ณ บริเวณศาลเจ้าโสมพะมิตร จังหวัดกาฬสินธุ์ โดย หน่วย บพท. ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนทุนวัฒนธรรมในพื้นที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาพื้นที่ภายใต้โครงการฟื้นฟูวัฒนธรรม ประเพณีและสร้างวัฒนธรรมใหม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งมีรูปธรรมการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องผ่านการจัดกิจกรรมเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมกว่า 104 ครั้ง เกิดรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสะสมกว่า 17.9 ล้านบาท มีรายได้สูงสุดจากการจัดกิจกรรมถึง 2.5 แสนบาทต่อครั้ง และสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.6 พันบาท/ครัวเรือน/เดือน โดยมีร้านค้าเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 158 ร้าน และด้วยความร่วมมือของประชาชนและประชาคมวัฒนธรรมในพื้นที่ จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป
กิจกรรมภายในงานมหกรรม ตั้งแต่วันที่ 4-6 มีนาคม 2566 อาทิ กิจกรรมศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ สำหรับเด็กและเยาวชน ประชาชน ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์, การแสดงรำวงย้อนยุค, การฉายหนังกลางแปลง, กิจกรรมลานวัฒนธรรมท้องถิ่น, การแสดงดนตรีโปงลาง และการกระตุ้นเศรษฐกิจวิถีชุมชนสินค้าท้องถิ่น ภูมิปัญญาชุมชน , พิธีบวงสรวงสักการะศาลเจ้าโสมพะมิตร, พิธีสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา บูชาโชค, รำถวายเจ้าโสมพะมิตร 230 ปี เมืองกาฬสินธุ์, การแสดงฟ้อนรำละครวัฒนธรรมภูไท และแฟชั่นโชว์ผ้าพื้นเมือง ถือได้ว่าเป็นมหกรรมที่ครบครันในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน กิจกรรมความบันเทิง สินค้าทางภูมิปัญญาชุมชน และกิจกรรมการมีส่วนร่วมต่าง ๆ