บพท.-พอช.-สสว.-อพท. สานพลัง
กำจัดความจน-ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

4 องค์กรรัฐผนึกพลังต่อยอด ขยายผลงานวิจัยสู่ปฏิบัติการขจัดความยากจน และเสริมความแข็งแกร่งแก่เศรษฐกิจฐานราก สร้างความมั่นคง ยั่งยืนแก่ระบบเศรษฐกิจประเทศ

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวถึงพัฒนาการของการสานพลังภาคีเครือข่ายต่อยอดขยายผลงานวิจัยระดับพื้นที่ไปสู่รูปธรรมของการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและขจัดความยากจนได้อย่างยั่งยืน โดยชี้แจงว่า บพท. ได้รับการตอบสนองความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ในการบูรณาการการทำงาน โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก และแก้ปัญหาความยากจน

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า การที่ บพท.-อพท.-พอช.-สสว.เห็นพ้องที่จะบูรณาการทำงานร่วมกัน บนเป้าหมายร่วมคือการขจัดความยากจนและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีมาก
“ผมมั่นใจว่าการที่ 4 องค์กรมาเชื่อมโยงการทำงานเข้าด้วยกัน โดย บพท.ใช้จุดแข็งด้านการวิจัยพัฒนาเชิงพื้นที่ อพท.ใช้จุดแข็งด้านการท่องเที่ยว พอช.ใช้จุดแข็งด้านการพัฒนาองค์กรชุมชน และ สสว.ใช้จุดแข็งด้านเงินทุน ด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ ตลอดจนการสร้างโอกาสทางการตลาด จะทำให้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำได้รับการขจัดออกไป”

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ดร.กิตติ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับแนวทางการดำเนินงานร่วมกันของ บพท.-อพท.-พอช.-สสว.ว่าจะเป็นไปตามแนวทางดังต่อไปนี้

  1. หารือเป้าหมายร่วมในการทำงานในสองกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ (1) คนจนและครัวเรือนยากจนในพื้นที่ ตามระบบข้อมูล TPMAP ทั่วประเทศกว่า 6 ล้านคน (ตามดัชนีใหม่เรื่องเกณฑ์รายได้และชีวิตความเป็นอยู่) รวมถึงระบบข้อมูลครัวเรือนยากจน PPPCONNEXT จากงานวิจัยของ อว. ใน 20 จังหวัดยากจนกว่า 9 แสนคน และ (2) การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากผ่าน ผู้ประกอบชุมชน (Local Business) รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน OTOP และ Local SME ที่มีลักษณะร่วม ได้แก่ เป็นธุรกิจชุมชนที่มีการจ้างงานในพื้นที่ มีการใช้ Local resources และมีโครงสร้างกระจายรายได้ รวมตัวเลขผู้ประกอบการชุมชนทั้งประเทศกว่า 2 ล้านราย
  2. สร้างและประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม จากฐานข้อมูลกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.). เพื่อเสริมพลังแกนนำชาวบ้านที่ พอช. พัฒนาขึ้น ในการพัฒนาชุมชนโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจอาชีพ
  3. สร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชนพื้นที่ รวมถึงการสร้างผู้ประกอบการในชุมชน โดยเฉพาะการขยายผลการพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน (CBT) จาก อพท. เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ และสร้างให้คนรุ่นใหม่เกิดสำนึกรักษ์ท้องถิ่นและพัฒนาพื้นที่ของตนเองให้เข้มแข็ง
  4. สร้างผู้ประกอบการชุมชน/ธุรกิจชุมชน ให้มีศักยภาพการประกอบการ และสร้างห่วงโซ่คุณค่าที่สามารถดึงคนจนให้สามารถเป็นแรงงานที่มีรายได้สม่ำเสมอได้ โดยขยายผลจากงานวิจัยของ อว. รวมถึงการขับเคลื่อนและการสนับสนุนเชิงนโยบายของ สสว.
    “สำหรับกลไกขับเคลื่อนการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันในการจัดตั้งคณะทำงานร่วม ซึ่งจะได้มีการกำหนดพื้นที่ทำงานเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกันใน 3 ลักษณะ ได้แก่ พื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของครัวเรือนยากจน พื้นที่ที่มีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงกับภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่ และพื้นที่ที่มีระบบข้อมูลเป็นที่ยอมรับได้ ในการเชื่อมโยงความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายไปร่วมกันพัฒนาขึ้นเป็นพื้นที่ต้นแบบระดับจังหวัด ทั้งนี้คณะทำงานร่วม จะมีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันอย่างน้อย 2 เดือนต่อครั้ง”
    ดร.กิตติ กล่าวว่า ภายใต้แนวทางและกลไก กระบวนการทำงานร่วมกันของ พอช.-อพท.-สสว. และบพท.ดังกล่าว เชื่อมั่นว่าจะสามารถตอบโจทย์การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำที่มุ่งผลสำเร็จต่อการยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนยากจนได้อย่างแน่นอน
สถิติการเข้าชม