เมื่อ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ณ ถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้จัดงาน “มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมืองภาคใต้ : จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่” ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 10 แห่ง ขึ้น เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านการจัดการทุนทางวัฒนธรรมและสร้างจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่น โดยมี ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. พร้อมด้วย นายเอกชัย เลิศวิบูลย์ลักษณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายเจษฎาพงศ์ ชูแก้ว รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถาน “ธัชภูมิ” เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ผศ.ดร. นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมเปิดงาน
จากการผนึกกำลังของมหาวิทยาลัยในพื้นที่และการหนุนเสริมของท้องถิ่นและทุกภาคส่วนได้นำทุนทางวัฒนธรรมอันมี “คุณค่า” มาจัดการให้เกิด “มูลค่า”สร้างรายได้แก่พี่น้องประชาชนและเกิด การหมุนเวียนของเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญ ซึ่งบรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความคึกคักของชาวหาดใหญ่ที่ออกมาจับจ่ายใช้สอยสินค้าจากผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมอันเป็นผลิตผลของงานวิจัยกว่า 50 ร้าน รวมทั้งได้ชมการจัดแสดงนิทรรศการวัฒนธรรมของภาคใต้บริเวณอาคารตึกชิโนยูโรเปียน การออกร้านสินค้าผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์บนฐานทุนวัฒนธรรม กิจกรรมสาธิตการทำอาหาร และสินค้าจากตัวแทนชุมชน สมาคม และหน่วยงานในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ โดยมีไฮไลท์ของงานคือ การเปิดพื้นที่ให้โนราเยาวชนกว่า 200 ชีวิต มาร่ายรำศิลปะการแสดงบนท้องถนนเพื่อร่วมเฉลิมฉลองที่ “UNESCO” ยกให้ “มโนราห์” เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอีกด้วย
สุดท้ายนี้ขอเชิญชวนเข้าร่วมและรับชมงาน “มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมืองภาคเหนือ : จากงานวิจัยสู่ การพัฒนาพื้นที่” วันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2566 ที่อาคารพลเอกสำเภา ชูศรี (E4) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งภายในงานมีการแสดงทางวัฒนธรรมบ้านพื้นบ้าน ได้แก่ “ขับทุ้มหลวงพระบาง” เป็นอัตลักษณ์ศิลปะการแสดงของชาวลาวหลวงพระบางแห่งอาณาจักรล้านช้าง นิทรรศการศูนย์การเรียนรู้พหุวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของแต่ละเมือง รวมถึงการออกบูธแสดงสินค้า งานหัตกรรมฝีมือพื้นเมือง และบริการทางวัฒนธรรมของผู้ประกอบการวัฒนธรรมทั่วภาคเหนือจากงานวิจัย
บพท. และ มอ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคใต้ จัดงาน “ฟื้นใจเมืองภาคใต้” ยกเศรษฐกิจฐานรากด้วยทุนทางวัฒนธรรมผ่านงานวิจัยและนวัตกรรม
สถิติการเข้าชม