จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้เกิดสถาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมของโลกและประเทศ ซึ่งทำให้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ในประเทศไทยระยะเริ่มต้นมีการกำหนดทิศทางและกำกับควบคุมจากรัฐบาลเพื่อ lock down ประเทศ และรัฐบาลได้มอบอำนาจการบริหารจัดการพื้นที่ให้กับกลไกบริหารพื้นที่นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ระดับจังหวัด จากมาตรการที่ชัดเจนและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทำให้ประเทศไทยสามารถลดการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีอัตราผู้เสียชีวิตอยู่ในระดับที่ต่ำมาก อย่างไรก็ตามจากมาตรการ lock down ประเทศและพื้นที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดต้องหยุดชะงักลง ทำให้เกิดการว่างงานและเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและในระดับพื้นที่ ผลกระทบเชิงพื้นที่นั้นส่งผลไปถึงภาคการเกษตรที่ยังมีการผลิตอย่างต่อเนื่อง แต่ตลาดบางส่วนปิดตัวลงและไม่แน่นอน ทำให้เกิดสถานการณ์ผลิตผลทางการเกษตรตกค้างในพื้นที่จำนวนมาก
ด้านระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ได้มีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน โดยสำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดตั้งโปรแกรมที่ 17 การแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการสร้างชุดความรู้ ระบบข้อมูล และใช้นวัตกรรมในการลดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนจากภัยพิบัติขนาดใหญ่ เพิ่มเติมขึ้นจากยุทธศาสตร์ อววน. 4 แพล็ตฟอร์ม 16 โปรแกรม และให้ทิศทางกับหน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) ต่างๆ ของประเทศปรับการดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2563 ทั้งนี้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จึงได้จัด consortium ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วน อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันอุดมศึกษา/มหาวิทยาลัยในพื้นที่ และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อระดมความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางการใช้ความรู้และนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างเร่งด่วน และพัฒนา กรอบการวิจัย Demand-supply matching platform ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้าง platform ในการเชื่อมโยงภาคการผลิตในพื้นที่กับตลาดใหม่ของประเทศ เพื่อระบายผลิตผลการเกษตร/ผลิตภัณฑ์ชุมชน เพิ่มโอกาสในการจ้างงาน การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน รวมถึงพัฒนาและเสริมทักษะการประกอบการให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยใช้พลังของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ และปรับบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ให้เป็นโครงสร้างความรู้ในการแก้ไขปัญหาสำคัญในการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม