“ศุภมาส” รมว.อว แถลงผลงาน พร้อมขับเคลื่อน อว. สู่กระทรวงเศรษฐกิจ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ด้าน บพท. ชู 3 ผลงานเด่น

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (รมว.อว.) ได้แถลงผลงานที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค โดยนำเสนอผลงานในรูปแบบที่แปลกใหม่และน่าสนใจ เรียกได้ว่าเป็น “นวัตกรรมแห่งการนำเสนอ” ผ่านละครเวทีสร้างสรรค์ ภายใต้ชื่อ “เชื่อมต่ออนาคตไทย สู่ปีแห่งความสำเร็จกับกระทรวง อว.” แสดงให้เห็นผลงานของกระทรวง อว.ที่สามารถเข้าถึงประชาชน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้การกำกับของกระทรวง อว. ร่วมนำผลงานเด่น ได้แก่ 1) โดรนเพื่อการเกษตร-โครงการพัฒนาอาชีพผู้ให้บริการโดรนเกษตรสำหรับอ้อย ข้าว และมันสำปะหลังในจังหวัดชัยภูมิ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจบริการโดรนเกษตรในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และเพิ่มทักษะให้กับนักบินโดรนเกษตร ปัจจุบันตลาดบริการโดรนเกษตรในจังหวัดชัยภูมิมีมูลค่าประมาณ 16.20 ล้านบาทต่อปี ซึ่งการใช้บริการโดรนเกษตรช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต โดยลดต้นทุนเฉลี่ย 10-14% และเพิ่มผลผลิตข้าวและอ้อยถึง 30% นอกจากนี้โครงการยังได้สร้างเครือข่ายการทำงานระหว่างภาครัฐ, ภาคเอกชน, และภาคประชาชน เพื่อเพิ่มทักษะให้นักบินโดรนและขยายการใช้โดรนเกษตรในพื้นที่ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน พร้อมทั้งช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นจากผลกระทบของโควิด-19 2) ปูทะเล-โครงการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตปูทะเลในพื้นที่ภาคใต้สู่การเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การตลาด และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่ง”ปูทะเล” เป็นทรัพยากรทางทะเลที่มีศักยภาพในการกลายเป็นสินค้าทางเศรษฐกิจใหม่ที่ได้ แต่จากองค์ความรู้ในการเพาะเลี้ยงและอนุบาลลูกปูทะเลในประเทศไทยยังค่อนข้างจำกัด มีโรงเพาะฟักเอกชนที่สามารถผลิตลูกปูทะเลได้เพียงไม่กี่แห่ง และไม่มีฟาร์มที่สามารถเลี้ยงลูกปูทะเลในระยะต่าง ๆ จึงทำให้ปริมาณลูกปูที่ได้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ โครงการจึงได้บูรณาการความร่วมมือจากนักวิชาการมหาวิทยาลัย, กรมประมง, ชุมชน และผู้ประกอบการในการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงปูทะเลอย่างครบวงจร เกิดโรงเพาะฟักและอนุบาลลูกปูทะเลที่สามารถผลิตลูกปูและจัดหาให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้สูงถึง 185,000 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 2.2 ล้านบาทต่อปีต่อฟาร์ม นอกจากนี้ยังสร้างรายได้ให้กับธุรกิจร้านอาหารที่ขายปูทะเล ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าถึง 4.4 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งราคาปูทะเลในตลาดยังเพิ่มขึ้นจาก 15-30% สร้างเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจในพื้นที่ และส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว และ 3) มะระขี้นก-โครงการพัฒนาโมเดลแก้จนด้วยเกษตรเศรษฐกิจมูลค่าสูงเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน จังหวัดร้อยเอ็ด  โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาธุรกิจชุมชนผลิตมะระขี้นกในการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยการสร้างห่วงโซ่ของผลิตภัณฑ์และธุรกิจชุมชนกลุ่มเป้าหมาย ให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม (Fair Trade) สู่กลุ่มผู้ผลิต คือเกษตรกรต้นน้ำ คนในชุมชน ครัวเรือนยากจน โดยนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการปลูกที่ถูกต้องและเหมาะสมให้กับเกษตรกร เพิ่มมูลค่าด้วยการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ พัฒนาผลิตภัณฑ์กิมจิ การแปรรูปในอุตสาหกรรมยาร่วมกับบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จนกระทั่งสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตครัวเรือนเป้าหมายและชุมชน สามารถพึ่งพาตนเองได้ทางเศรษฐกิจ ครัวเรือนยากจนได้รับประโยชน์ กว่า 102 ครัวเรือน 357 คน และมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20,500 บาท/ครัวเรือน/เดือน

สำหรับการทำงานที่ผ่านมา กระทรวง อว. และหน่วย บพท. โดยการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ววน.  มุ่งมั่นขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และเชื่อว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม คือรากฐานสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทำให้ “อว. เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ” ที่ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศผ่านการวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ สร้างความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

สถิติการเข้าชม