การศึกษาดูงานและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการแก้ไขความยากจนจากสถาบันวิจัยกระบือ (กว่างซี) และเยี่ยมชมชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศหนองลา หมู่บ้านกู่หลิน อำเภอหม่าซาน

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 67 หน่วย บพท. นำโดยคุณฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการบริหารหน่วย บพท. พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหาร ผู้บริหาร หน่วย บพท. ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิจัย 7 มหาวิทยาลัย ได้นำคณะศึกษาดูงานการพัฒนาสายพันธุ์กระบือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน สถาบันวิจัยกระบือ (กว่างซี) ณ นครหนานหนิง โดยมีคุณฉิน กวงเซิ่ง รองผู้อำนวยการสถาบันฯ และคณะให้การต้อนรับ พร้อมกับเสนอถึงลักษณะและปัจจัยด้านเทคนิค ตามบทบาทของสถาบันวิจัย ซึ่งกระบือนมเปรียบเป็นอัตลักษณ์ของกว่างซี และมีจำนวนกระบือถือเป็นอันดับ 3 ของโลก

สถาบันวิจัยทำหน้าที่พัฒนาสายพันธุ์ ภายในฟาร์มจะมีกระบือ 3 สายพันธุ์ ดังนี้ (1) กระบือพันธุ์ นีลี-ราวี (Nili -Ravi) เป็นพันธุ์ที่มาจากปากีสถาน (2) กระบือพันธุ์มูร่าห์ (Murrah buffalo) เป็นพันธุ์ที่มาจากประเทศ อินเดีย (3) กระบือเมดิเตอร์เรเนียน เป็นพันธุ์ที่มาจากอิตาลี สาธิตการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากนมกระบือ อบรมเกษตรกรและมีแพลตฟอร์มนวัตกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาสายพันธุ์กระบือ โดยมีห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์ มีห้องปฏิบัติการ 7 ห้องปฏิบัติการที่ทำเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์หรือพันธุกรรมกระบือ แบ่งการวิจัยออกเป็น 4 ด้าน คือ (1) เทคโนโลยีพันธุกรรมและการขยายพันธุ์กระบือ (2) โภชนาการอาหารสัตว์ (3) การแปรรูปอาหารและทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยด้านคุณภาพนมกระบือ (4) การปรับปรุงพันธุ์กระบือและใช้ประโยชน์จากพันธุ์กระบือที่พัฒนาขึ้น มีการส่งเสริมให้นำผลงานวิจัยไปใช้ในพื้นที่ อบรมทางเทคนิคไปแล้วกว่า 200 รุ่น เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการเลี้ยงกระบือ มีการขยายเชิงพื้นที่ จดสิทธิบัตร รวมถึงทำความร่วมมือกับบริษัทเอกชน

การแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการทำฟาร์มกระบือ มีกลไกและกระบวนการ ได้แก่ (1) การสนับสนุนจากภาครัฐผลักดันเข้าสู่แผนการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ของรัฐบาลระดับมณฑล เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมนมกระบือ โดยสนับสนุน 100 ล้านหยวนต่อปี (2) รัฐบาลโดยกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกรมเกษตรและกิจการชนบท สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานวิจัย (3) การดำเนินโครงการปรับปรุงพันธุ์ของกระบือนม เพื่อให้กระบือท้องถิ่นผลิตน้ำนมได้เยอะขึ้น จึงมีการวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์เพิ่มมากขึ้น และมีห้องปฏิบัติการ (4) การสนับสนุนเชื่อมโยงกับชุมชม เป็นความร่วมมือแบบผสมผสาน สร้างฐานสาธิตการเลี้ยงกระบือนม การจัดการอาหารสัตว์ ชาวบ้านจะทำปลูกหญ้าให้อาหาร มีการซื้อประกันของกระบือ เพื่อลดความเสี่ยง ทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเลี้ยงกระบือได้ให้เกษตรกรสามารถกู้เงินได้ในวงเงิน 50,000 หยวน โดยรัฐจ่ายดอกเบี้ยให้ เช่น กู้เพื่อเอาลงทุนร่วมกับบริษัทเพื่อรับเงินปันผล หรือซื้อลูกกระบือมาเลี้ยง ในการทำงานมีเลขาธิการพรรคลงพื้นที่ไปประเมินว่าควรพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างไร ให้คำแนะนำรวมถึง ประสานฝ่ายต่างๆเข้ามาสนับสนุน
.
ต่อมา คณะศึกษาดูงานได้เดินทางไปเยี่ยมชมโมเดลการแก้ปัญหาความยากจนด้วยการท่องเที่ยวชุมชน มี คุณหลิว เสี้ยนจาง ปลัดอำเภอหม่าซาน, คุณหลาน รื่อหง รองผู้อำนวยการสำนักงานพรรคประจำอำเภอ และคณะให้การต้อนรับ โดยได้นำคณะศึกษาดูงานเยี่ยมชมในพื้นที่

จุดที่ 1 เยี่ยมชมหมู่บ้านเฉียวเหล่า อําเภอหม่าซาน โดยมีคุณหนง ฮั่วเทา เจ้าของที่พักโฮมสเตย์ เสนอว่า โดยแต่เดิมเป็นหมู่บ้านที่ค่อนข้างยากจน ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐระดับอำเภอ ทำให้หมู่บ้านเจริญขึ้นในปี 2013 มีการรื้อบ้านเก่า 8000 หลัง เพื่อสร้าง การสร้างหมู่บ้านใหม่ หลังจากนั้นพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยให้ชาวบ้านถือหุ้นครัวเรือนละ 6 หุ้นๆละ 5000 หยวน ทั้งหมด 320 หุ้น รายได้การท่องเที่ยว 3 ล้านหยวนต่อปี มีทั้งหมด 13 แห่ง มีการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างรายได้เฉลี่ย 17,000 หยวนต่อปีต่อคน ประชาชนที่ถือหุ้นได้รับเงินปันผล 1,500 หยวนต่อคนต่อปี และแบ่งเงินปันผล 20% ไว้สำหรับดำเนินกิจการต่อ รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รายได้ของหมู่บ้านทั้งหมด 29.8 ล้านหยวนต่อปี ทำให้หมู่บ้านนี้เจริญมากขึ้น
.
จุดที่ 2 เยี่ยมชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศหนองลา หมู่บ้านกู่หลิน เมืองกู่หลิน อําเภอหม่าซาน โดยคุณหลี่ หรงกวง ประธานสหกรณ์การท่องเที่ยวหนองลา และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์หมู่บ้านหนองลากล่าวว่า เดิมชุมชนเป็นพื้นที่ภูเขาหินปูน ไม่อุ้มน้ำ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม แต่ในช่วงแห้งแล้งจะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ ไม่เหมาะกับการเพาะปลูก ชาวบ้านมีการบุกรุกอพยพไปยังบนเขามากขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ชุมชนจึงได้มีการทำสนธิสัญญากับชาวบ้าน โดยแบ่งโซนของพื้นที่ ด้านบนของพื้นที่ชุมชนเป็นต้นไม้ รองลงมาเป็นการปลูกไผ่ ในส่วนของด้านล่างเป็นการปลูกธัญพืช หากมีบุกรุกตัดต้นไม้ จำนวน 1 ต้น จะต้องปลูกต้นไม้ จำนวน 10 ต้น ทดแทน พร้อมกับดูแลจนกระทั่งต้นไม้เจริญเติบโต ด้วยความร่วมมือของคณะกรรมการพรรคท้องถิ่นและรัฐบาล พัฒนาให้ชุมชนนิเวศหนองลาได้ก่อตั้งสหกรณ์การท่องเที่ยว โดยได้มีการนำโมเดลธุรกิจ “เกษตรกร + บริษัท” มาใช้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวชาวบ้านใช้สิทธิการจัดการสัญญาที่ดินและป่าไม้ในการลงทุนเชิงปริมาณในสหกรณ์ มีชาวบ้าน 28 ครัวเรือน ผลของการพัฒนาการท่องเที่ยวทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นอย่างชัดเจน จากรายได้เดิม 2545 ราว 12,000 หยวน หลังจากส่งเสริมการท่องเที่ยว ปี 2564 รายได้เป็น 26,000 หยวน หมู่บ้านนี้เริ่มกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักมากขึ้น สร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
https://thaibizchina.com/article/bicnng2024-04-30/

สถิติการเข้าชม