จากนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งท่านรัฐมนตรีศุภมาส อิศรภักดี ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “สานพลังการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย พลิกโฉมให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่า และพร้อมก้าวสู่อนาคต” โดยผลักดันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากงานวิจัยได้ และเปลี่ยนจากงาน “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” เป็น “งานวิจัยขึ้นห้าง” เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ รวมถึงตอบโจทย์ต่อความต้องการของประเทศต่อไปได้ โดยเฉพาะช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนากลุ่มคนฐานราก ซึ่งครอบคลุมทั้งเกษตรกร คนยากจน ผู้ประกอบการในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหน้าที่สำคัญของกระทรวง อว. ที่จะสนับสนุนการสร้างและส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate technology) ของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือชุมชนพื้นที่ทั่วประเทศไทย
จากนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว. กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ระบุว่าในปีงบประมาณ 2568 กองทุน ววน. มุ่งเน้นการทำงานบนฐานงานวิจัยในการแก้ปัญหาสำคัญเร่งด่วน ใน 3 มิติ ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ภายใน 2 ปี โดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เบื้องต้น 8 เป้าหมายสำคัญและเร่งด่วน
โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ต้องส่งเสริมให้ครัวเรือนในชนบทและครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยตั้งเป้าหมาย 12,000 ครัวเรือนภายใน 2 ปี รายได้สุทธิของครัวเรือนในชนบทเพิ่มขึ้นครัวเรือนละ 5,000 บาทต่อเดือน (ปีละ 60,000 บาทต่อครัวเรือน) ผ่านสร้างกลไกการขยายผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ และพัฒนานวัตกรชุมชนต้นแบบเพื่อเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านหน่วยงานกลุ่มเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. จึงร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ประกอบด้วย 1. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ 2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก 3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร 5. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ 6. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 7. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย 8. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ และ 9.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) การขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ (Appropriate Technology) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. กล่าวว่า ความร่วมมือในการขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาพื้นที่กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง ถือเป็นการบูรณาการองค์ความรู้ ทรัพยากร และความชำนาญเฉพาะด้านของแต่ละฝ่าย เพื่อผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในยุคที่มีการแข่งขันสูง
“การผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มีปัจจัยเกื้อหนุน 2 ส่วนหลัก ๆ ส่วนแรกคือต้องมีเทคโนโลยีชาวบ้านที่หลากหลาย ไม่ซับซ้อน โดยปรับการใช้งานที่สอดคล้องตามภูมิสังคม ส่วนที่สองคือ ต้องมีเครือข่ายที่เข้ามาร่วมมือกันพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทั้งฝีมือและผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับคนทำงานให้เป็นนวัตกรชุมชนและสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นความร่วมมือที่เป็นการบูรณาการและยกระดับการทำงานขึ้นไปอีกขั้น”
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ประธานอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) กล่าวว่าจากทุนเดิมดังกล่าวของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมที่มีพื้นที่ตั้งวิทยาเขต 24 จังหวัด กระจายตัวในพื้นที่ 4 ภูมิภาค และ พื้นที่บริการครอบคลุม 40 จังหวัด ได้พัฒนาคลังข้อมูลเทคโนโลยีในรูปแบบ Technology and Innovation Library ซึ่งขณะนี้มีจำนวนถึง 387 เทคโนโลยี ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ ช่วยแก้ไขปัญหา และสร้างโอกาสแก่ชุมชน ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการยกระดับงานบริการเชิงสังคมสู่การเป็น “ศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้แบบครบวงจร” ในด้านต่าง ๆ เช่น ศูนย์ถ่ายทอดด้านเทคโนโลยี การเป็นโรงงานต้นแบบที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย ระบบการผลิตเชิงอุตสาหกรรมชุมชน เป็นต้น เพื่อให้นักศึกษาหรือผู้สนใจเข้ามาฝึกงานสู่การยกระดับฝีมือแรงงานให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ทั้งนี้ บพท. มีแผนขับเคลื่อนการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566–2570 ในยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหา
ท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม และกำหนดเป้าหมายขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ (Appropriate Technology) บนความร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม เพื่อขยายผลต่อยอดนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมจากงานวิจัย สู่การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ (Learning and Innovation Platform; LIP) ให้เกิดการเรียนรู้และรับ-ปรับ-ใช้นวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อมุ่งสร้างโอกาสใหม่ในพื้นที่ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและจัดการแก้ปัญหาคนจน และลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและฐานรากทั้งภาคชนบทและเมืองให้พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจในครั้งนี้ มีระยะเวลา 3 ปี เพื่อที่จะร่วมกันขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ (Appropriate Technology) ในการประยุกต์ใช้และขยายผลนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม จากผลงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลฯ ในการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ คนจนฐานราก เกษตรกรรายย่อย กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการในพื้นที่ ตลอดจนการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ รวมทั้งพัฒนากลไกถ่ายทอดและบริการเทคโนโลยีสู่ชุมชน เพื่อเสริมสร้าง Ecosystem ที่พร้อมให้บริการกลุ่มเป้าหมาย และการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ให้เกิดการลงทุนสำหรับนำผลงานวิจัยที่เป็น Appropriate Technology ไปสู่การขยายผลทางธุรกิจและเกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ (Appropriate Technology) และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ.