สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมงานนิทรรศการงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน ม.นราธิวาสฯ

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา สะแลแม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ นำคณะผู้บริหารและบุคลากรมหาวิทยาลัยฯ เข้าร่วมแสดงนิทรรศการผลงานและโครงการที่สำคัญของมหาวิทยาลัยฯ แก่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานของดีเมืองนรา ประจำปี 2567 ณ สวนสาธารณเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ เฉลิมพระชนมพรรษา อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส

ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ได้นำเสนอนิทรรศการงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคมพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยการสนับสนุนทุนวิจัยของหน่วยบริหาแลัจัดการทุนด้านกาพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท)ได้แก่
1) โมเดลแก้จนเทคโนโลยีการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อการผลิตปุ๋ยยกระดับสู่การเพาะเลี้ยงเพื่อใช้สำหรับตำรับยา ภายใต้ MAJI-JAYA MODEL โดยมีจำนวนครัวเรือนยากจนเป้าหมาย 263 ครัวเรือน หรือ 875 คน ได้รับการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ สามารถสร้างรายได้จากการจำหน่วยปุ๋ยมูลไส้เดือน พันธุ์ไส้เดือน
เบดดิ้ง ชุดเริ่มต้นเลี้ยงไส้เดือน มีรายได้เดือนละ 2,000-3,000 บาท/ครัวเรือน
2) การยกระดับผลิตภัณฑ์ “ขิง” สู่มาตรฐานการผลิต สู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงเพิ่มรายได้เศรษฐกิจฐานรากชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น เครื่องสไลด์ขิง เพื่อเพิ่มโอกาส และสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน ในพื้นที่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส โดยมีจำนวนครัวเรือนยากจนเป้าหมาย 175 ครัวเรือน สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 20%
3) ครามมะนารอ เปลี่ยน “วิถีชุมชน” สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีจำนวนครัวเรือนยากจนเป้าหมาย 144ครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกครามสร้างเครือข่ายในการปลูก ได้แก่ พื้นที่ของศูนย์เรียนรู้ ฮูแตทูวอ จำนวน 5 ไร่ พื้นที่ของมหาวิทยาลัยนราธิวาสฯ จำนวน 2 ไร่ และพื้นที่ของศูนย์หม่อนไหมฯ จำนวน 1 ไร่ ผลิตผ้าย้อมครามนอกจากจะขายเป็นผ้าผืน ผ้าคลุมไหล่ และผ้าพันคอ แล้ว ยังมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าครามในหลายลักษณะ เช่นเสื้อ กางเกง กระเป๋า รองเท้า พวงกุญแจ เป็นต้น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าย้อมคราม สร้างความแตกต่างและเพิ่มเอกลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์ของตนเอง
4) เรือกู้ภัย ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมโมเดลแก้จนเร่งด่วนจากผลกระทบภัยพิบัติ กรณีจังหวัดนราธิวาส โดยพัฒนาเรือกู้ภัยให้มีระบบส่องสว่างกลางคืนด้วยแผงโซล่าเซลล์ ระบบสัญญาณ Wi-Fi ระบบชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือและระบบจ่ายไฟฟ้า 220 โวลต์ ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานสำหรับอุปกรณ์สื่อสารอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่จำเป็น ความสำเร็จของนวัตกรรมเรือกู้ภัยนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในพื้นที่ต้นกำเนิดจังหวัดนราธิวาสเท่านั้น แต่ยังได้ถูกนำไปขยายผลประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นที่ประสบภัยพิบัติในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเรือกู้ภัยนี้ไปช่วยเหลือชาวสุโขทัยที่ประสบปัญหาอุทกภัย ซึ่งเป็นการยืนยันถึงประสิทธิภาพและความเหมาะสมของเทคโนโลยีในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศและสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน การขยายขอบเขตการใช้งานผลงานวิจัยนี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการในระดับปฏิบัติการ แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาและปรับใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาในระดับประเทศ

ต่อมาในวันนี้ 27 ก.ย.67 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ประจำปีการศึกษา 2566 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส

พระองค์ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการงานวิจัย ของมหาวิทยาลัยฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการประมงพื้นบ้านเป็นผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน เกาะปูลาโต๊ะบีซู อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีประชากร 119 ครัวเรือน 770 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำประมง ในปีงบประมาณ 2566 ได้จัดตั้งวิสาหกิจชุมชน “เกาะหัวใจเกื้อกูล” โดยนำแม่บ้านจาก 30 ครัวเรือน เข้าสู่กระบวนการวิจัย ผลคือ กลุ่มแม่บ้านสามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการของตลาด อาทิ การผลิตปลากุเลาเค็ม ปลากระบอกแดดเดียว และปลาหมึกตากแห้ง เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตสูงสุด 14 เท่าตัว ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีเงินออม และสามารถปลดหนี้สินได้ 9 ครัวเรือน เกิดการสร้างงานใหม่ให้คนในพื้นที่ 98 คน โดยในปีงบประมาณ 2568 ตั้งเป้าหมายขยายฐานการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 30 ครัวเรือน

ในโอกาสเดียวกันนี้ พระองค์ยังได้ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม พื้นที่จังหวัดนราธิวาส ประกอบด้วย ผลงานวิจัยเกี่ยวกับน้ำผึ้งจากผึ้งชันโรง ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอบาเจาะ ซึ่งดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน โดยส่งเสริมให้เลี้ยงผึ้งชันโรง และใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมไล่ความชื้นในน้ำผึ้ง เพื่อปรับปรุงคุณภาพ ทำให้ราคาน้ำผึ้งชันโรงทั่วไปเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 600 บาท เป็นกิโลกรัมละ 2 พันบาท ขณะที่น้ำผึ้งมรกต ซึ่งเป็นน้ำผึ้งชันโรงที่มีสีเขียวคล้ายมรกตที่ผึ้งชันโรงเก็บน้ำหวานมาจากดอกเสม็ดขาวบริเวณป่าพรุ จังหวัดนราธิวาส สามารถขายได้กิโลกรัมละ 5 พันบาท ทำให้คนในพื้นที่ฯ มีรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4,000-10,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ ผลงานวิจัยจากการค้นพบน้ำผึ้งมรกตเป็นครั้งแรกของโลกยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ 2 ฉบับ และมีการจดสิทธิบัตร 1 ฉบับด้วย

สถิติการเข้าชม