เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและยกระดับขีดความสามารถในการจัดการภาครัฐแลท้องถิ่น ได้เป็นประธานกล่าวในพิธีเปิดศูนย์วิจัยและส่งเสริมทักษะภูมิสารสนเทศดิจิทัลขั้นสูงเพื่อพัฒนาท้องถิ่น โดยได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นในศักยภาพจนสามารถเป็นองค์กรชั้นนำของประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงนี้อาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสภาวะปกติทั่วไป จึงจำเป็นต้องมีการจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลง โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งเทศบาลเมืองแม่เหียะได้เป็นต้นแบบระดับประเทศที่นำร่องในกระบวนการนี้แล้ว ดังนั้น จากประสบการณ์และความสำเร็จที่มีอยู่ ควรนำไปต่อยอดและขยายผลเพื่อประโยชน์แก่ อปท. ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ
พร้อมกันนี้ นายสมบุญ เทพอยู่ รองนายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ พร้อมทั้ง ผศ.ดร.อลงกรณ์ คูตระกูล หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาเทคนิคเชิงกลยุทธ์ระดับสูงในการจัดทำแผนที่ภาษี เพื่อเสริมสร้างฐานข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น ได้ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1. การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการจากประสบการณ์จริงของท้องถิ่น และ 2. การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ หลักสูตรอบรมนี้มีระยะเวลาทั้งสิ้น 72 ชั่วโมง แบ่งออกเป็น 2 รอบ รอบละ 3 วัน โดยในรุ่นที่ 1 มีผู้เข้าร่วมจาก 14 แห่ง รวมจำนวน 46 คน การอบรมจะมุ่งเน้นที่การลงมือปฏิบัติจริง ทั้งยังมีระบบติดตามผลและให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่เข้าร่วมอบรมอย่างมีประสิทธิภาพ
ในการนี้ ผู้บริหารเทศบาลเมืองแม่เหียะ ได้มอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญในการให้บริการแก่ประชาชนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผ่านการนำเทคโนโลยีที่ใช้งานง่ายมาประยุกต์ใช้ ซึ่งการพัฒนานี้ได้แบ่งออกเป็น 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1. การสร้างฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากมีฐานข้อมูลที่ดีจะสามารถวางแผนและจัดการงานต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน 2. การจัดทำระบบที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน อาทิ ระบบบริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) และ 3. การพัฒนาระบบสารบัญภายในเทศบาลเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการติดตามเอกสารและเร่งรัดการดำเนินงาน โดยสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงนี้คือการปรับวิธีคิดของฝ่ายบริหารและผู้ปฏิบัติงานให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิผลและยั่งยืน