ฟื้นใจเมือง ณ หลาดชุมทางทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

จากการริเริ่มงานด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจในพื้นที่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ด้วยภาพฝันถ้าหากเกิดขึ้นจริง ว่าด้วยการนำฐานรากเหง้า ประเพณี ศิลปะและวิถีชีวิตที่ลึกซึ้งของประเทศไทยมานำเสนอในมุมมองใหม่ จะสามารถสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ อย่างน้อยเมืองละ 200 ล้านบาท จึงเป็นสิ่งที่จุดประกายให้เกิดการสร้างความร่วมมือร่วมกับแวดวงวิชาการโดยอาจารย์พนิดา ฐปนางกูร ผู้จัดการโครงการอาวุโส สถาบันคลังสมองแห่งชาติ (ในขณะนั้น) การพัฒนากรอบการวิจัยด้านทุนวัฒนธรรม ภายใต้งาน “ฟื้นใจเมือง”ด้วย “เศรษฐกิจพื้นที่ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน” โดยใช้ชื่อจากโคลงนิราศนรินทร์ ตามคำแนะนำของ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ผู้ริเริ่มงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หลังจากการสนับสนุนทุนวิจัยว่าด้วยแนวคิดการสร้างกลไกความร่วมมือในพื้นที่ สู่การสืบค้นแผนที่วัฒนธรรม (Cultural Mapping) และนำมาเสนอเป็นพื้นที่วัฒนธรรม (Cultural Space) เพื่อสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ งานนี้ขับเคลื่อนโดยทุนวิจัยและนวัตกรรมให้กับมหาวิทยาลัยกว่า 10 แห่ง เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 3 ปี พบว่า โดยส่วนใหญ่นักวิชาการจะมุ่งเน้นกับการสืบค้น ตีความเรื่องราวในชุมชน มากกว่าการพัฒนาและต่อยอดให้เกิดรูปธรรมความสำเร็จ โดยเฉพาะการสร้างรายได้จากฐานทุนวัฒนธรรม

จนกระทั่งปี 2560 ผมได้พบกับ ดร.ธนภณ วัฒนกุล ผู้ขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม และมีความเชี่ยวชาญรวมถึงอุทิศชีวิตให้แก่วัฒนธรรมของประเทศ จึงได้ทาบทามท่านในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ เข้ามาร่วมหารือแลกเปลี่ยน ตามหลักคิดและอุดมการณ์ของท่าน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนและพัฒนากรอบการวิจัยใหม่ สู่การสร้างงานวิจัยเพื่อการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ได้แก่ 1) พื้นที่ทางวัฒนธรรม วิถีไทลื้อ จังหวัดพะเยา 2) พื้นที่ทางวัฒนธรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนไทยอง จังหวัดเชียงใหม่ 3) พื้นที่ทางวัฒนธรรม ผ้าทอมือย้อมครามและสีธรรมชาติ จังหวัดสกลนคร 4) พื้นที่ทางวัฒนธรรม ดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน จังหวัดกาญจนบุรี 5) พื้นที่ทางวัฒนธรรม ชุมชนทางการค้าผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช และ 6) พื้นที่ทางวัฒนธรรม กลุ่มเศรษฐกิจวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ / เส้นทางหน้าพระลานมหาราช พระจันทร์ พระอาทิตย์ กรุงเทพฯ

โดยงานนี้ใช้หลักคิดการทำงานการวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ริเริมมาตั้งแต่ สกว. เดิม จนถึง บพท. ในปัจจุบัน โดยหน่วย บพท. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่เสริมพลังอำนาจให้คนทำงาน (Empowerment Unit) เริ่มจากการถกเถียง หารือและแลกเปลี่ยนแนวคิด จนเกิดเป็นโจทย์วิจัยและกรอบแนวคิดวิจัย (Research Framework) เกิดการตีความใหม่และลงไปแลกเปลี่ยนในพื้นที่ รวมถึงการชวนเครือข่ายในพื้นที่เข้ามาทำงานร่วมกัน จนเกิดเป็น“หลาดชุมทางทุ่งสง” ตลาดที่เกิดจากทุนวัฒนธรรมในพื้นที่ เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2561 ซึ่งนั้นเองที่เป็นความประทับใจแรกในการสัมผัสการร่วมผลักดันพื้นที่ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น

“หลาดชุมทางทุ่งสง” เลยจุดที่จินตนาการไว้ไปมาก และ ณ ปัจจุบัน “หลาดชุมทางทุ่งสง” ได้เปิดตลาดเป็นครั้งที่ 216 แล้ว โดยในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานในพิธีเปิด และได้ปรารภว่า การขับเคลื่อนพื้นที่วัฒนธรรมด้วยประชาคมวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของชีวิตการทำงานของท่าน และได้กล่าวตอนเปิดงานไว้ว่า

“…กลไกความร่วมมือของท้องถิ่นและประชาคม ที่มาจากการปลุกกระแสทุ่งสง สู่การผลักดัน “ฟื้นใจเมือง” ภายใต้ทิศทาง“คุณค่าสู่มูลค่าเพิ่ม” ด้วยการส่งเสริมให้คนทุ่งสงเข้าใจตัวเอง เห็นความสำคัญและที่มาที่ไปของรากเหง้า การ“ฟื้นใจเมือง”ทำให้คนนครศรีธรรมราชได้ภูมิใจในอดีต ศรัทธาในปัจจุบัน และเชื่อมั่นต่อไปยังอนาคต ด้วยอำเภอทุ่งสง มีอารยธรรม มีลักษณะพิเศษโดดเด่นและเป็นตัวของตัวเอง ซึ่ง “ตลาดฟื้นใจเมือง” เป็นตลาดวัฒนธรรม ที่จะสามารถเปลี่ยน mindset ของชาวทุ่งสงให้พึ่งพาตัวเองและเชื่อมั่นในตนเองได้…”

ทั้งนี้ “หลาดชุมทางทุ่งสง” ไม่ใช่แค่ตลาดนัด หรือกลไกการสร้างเศรษฐกิจฐานราก แต่เป็น “พื้นที่กลางของเมือง” ที่จะเป็นพื้นที่แห่งการสร้างความร่วมมือ ในการนำเรี่องราวทั้งหมดของเมือง ภูมิภาค การแลกเปลี่ยน การสร้างเป้าหมายร่วมกัน เป็นกติการ่วม ผ่านกระบวนการหารือ สู่กระบวนการสร้างความร่วมมือ ที่เรียกว่า “ประชาคมวัฒนธรรมทุ่งสง” ด้วยเครื่องมือการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมความสำเร็จในพื้นที่ กล่าวคือ ความสัมพันธ์การบริหารจัดการพื้นที่และท้องถิ่น ที่เป็นความสัมพันธ์ที่บูรณาการดุลอำนาจอย่างเท่าเทียมระหว่างหน่วยงานท้องถิ่น โดยคุณทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง คุณเตือนจิต จงคง รองปลัดเทศบาลเมืองทุ่งสง คุณมรินทร์ ตันติชำนาญกุล (โกยี) ประธานประชาคมวัฒนธรรมเมืองทุ่งสง คุณวรวิทย์ โกสุวรรณ ประธานชุมชนย่านการค้า และคุณปิยะนาถ กลิ่นภักดี นักวิจัยในพื้นที่ เป็นกำลังสำคัญ

สิ่งที่สำคัญที่สุด “หลาดชุมทางทุ่งสง” เป็นของคนทุ่งสงอย่างแท้จริง

วันที่ 12 มีนาคม 2566 เปิดตลาดวัฒนธรรม “หลาดชุมทางทุ่งสง” ครั้งที่ 216 และพิธีเปิดงานมหกรรม “ฟื้นใจเมือง” ด้วย “เศรษฐกิจพื้นที่ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน” ณ หลาดชุมทางทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี

บุคคลสำคัญ (keyman) ในพื้นที่ที่มีส่วนสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนงานวิจัย จนเกิดเป็นตลาดวัฒนธรรม “หลาดชุมทางทุ่งสง”
บนจากซ้ายไปขวา :
1. คุณทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง
2. คุณเตือนจิต จงคง รองปลัดเทศบาลเมืองทุ่งสง
ล่างจากซ้ายไปขวา :
1. คุณมรินทร์ ตันติชำนาญกุล ประธานประชาคมวัฒนธรรมเมืองทุ่งสง
2. คุณวรวิทย์ โกสุวรรณ ประธานชุมชนย่านการค้า
3. คุณปิยะนาถ กลิ่นภักดี นักวิจัยในพื้นที่

การแสดงศิลปวัฒนธรรมของเด็กและเยาวชนอำเภอทุ่งสง จากนโยบาย 1 โรงเรียน 1 วัฒนธรรม ของท่านนายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง
(ขอบคุณภาพจากเพจ : เทศบาลเมืองทุ่งสง)

ผู้ประกอบการวัฒนธรรมใน “หลาดชุมทางทุ่งสง” จะต้องภูมิลำเนาและอาศัยในอำเภอทุ่งสงเท่านั้น รวมถึงสินค้าและผลิตภัณฑ์สินค้าที่นำมาขายต้องเป็นสินค้าเชิงวัฒนธรรมของ ๑๔ จังหวัดภาคใต้เท่านั้น ตามกติการ่วมกันของตลาดโดยประชาคมวัฒนธรรมเมืองทุ่งสงร่วมกับท้องถิ่น 

กติการ่วม วัฒนธรรมของผู้ค้า “หลาดชุมทางทุ่งสง”ตลาดสินค้าเชิงวัฒนธรรม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ทุนวัฒนธรรม โดยประชาคมวัฒนธรรมเมืองทุ่งสงร่วมกับท้องถิ่น ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ 2564 

เวทีหารือและแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนา Research Framework และการขับเคลื่อนงาน ระหว่างหน่วย บพท. นักวิจัย และหน่วยงานท้องถิ่น

วันที่ 14 มกราคม 2561 เปิดตลาดวัฒนธรรม “หลาดชุมทางทุ่งสง”ครั้งแรก การริเริ่มกลไกความร่วมมือระหว่างประชาคมวัฒนธรรมกับท้องถิ่น เพื่อการสร้างวิสาหกิจทางวัฒนธรรมในชุมชนและก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน

วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เปิดตลาดวัฒนธรรม “หลาดชุมทางทุ่งสง” ครั้งที่ 100 กลไกความร่วมมือระหว่างประชาคมวัฒนธรรมกับท้องถิ่น เกิดโครงสร้างการจัดการงานระดับพื้นที่แบบใหม่ในแนวราบ และเห็นการสร้างเป้าหมายร่วมอย่างชัดเจน ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม ในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรมศิลปะและวัฒนธรรม (สว.) โดยอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม เข้าร่วมพิธีด้วย

วันที่ 30 ตุลาคม 2565 เปิดตลาดวัฒนธรรม “หลาดชุมทางทุ่งสง” ครั้งที่ 200 เห็นการสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่น เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่จากกติการ่วมอย่างชัดเจน 

สถิติการเข้าชม