กระทรวง อว. นำ บพท. ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ใช้ “วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม”เร่งช่วยเหลือสถานการณ์น้ำท่วม จังหวัดสุโขทัย

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยการมอบหมายนโยบายจาก น.ส. ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ให้ หน่วย บพท. และเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ร่วมกันใช้ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จากการสนับสนุนทุนวิจัยโดยหน่วย บพท. เร่งเข้าช่วยเหลือเยียวยาสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ได้รับมอบหมายจาก น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว.ให้ลงพื้นที่ จ.สุโขทัย เพื่อ “เปิดปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมของกระทรวง อว.จ.สุโขทัย” โดยมีผู้บริหารจากหน่วยงานภายใต้กำกับของกระทรวง อว. รวมทั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัย กองทัพภาคที่ 3 และสมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ เข้าร่วม ณ โรงเรียนเทศบาลวัดไทยชุมพล (ดำรงประชาสรรค์) จ.สุโขทัย

น.ส.สุชาดา กล่าวว่า “การเปิดปฏิบัติช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมของกระทรวง อว. จ.สุโขทัย ในครั้งนี้ เป็นการสั่งการอย่างเร่งด่วนของ น.ส.ศุภมาส รมว.อว.ที่ให้ระดมกำลังกระทรวง อว. มาให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทั้งกองทัพภาคที่ 3 หน่วยงานในพื้นที่ สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ และบริษัทเอกชนต่างๆ ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยในพื้นที่ยังเปิดศูนย์ปฏิบัติการเพื่อเป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือประชาชน เป็นที่พักพิงชั่วคราว และเป็นศูนย์กระจายสิ่งของที่จำเป็น รวมถึงเป็นหน่วยประสานงานในพื้นที่ พร้อมนำนักศึกษาจิตอาสาลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้าน ทั้งให้บริการซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์การเกษตร จากนี้ขอยืนยันว่ากระทรวง อว.และภาคีเครือข่ายพร้อมให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ ตลอดจนเข้าทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย“

การนี้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. ร่วมนำผลงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนทุนจากหน่วย บพท. เข้าร่วมช่วยเหลือสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ในระยะเร่งด่วน นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม “เรือ” พร้อมใช้จำนวน 2 ลำ ประกอบด้วย 1.เรือกู้ภัย โดย ม.นราธิวาสราชนครินทร์ ที่มาพร้อมกับโซล่าเซลล์ ขนาด 400 วัตต์ แบตเตอรี่ 150A ช่องชาร์จ USB 12 ช่อง ระบบ Wifi อินเตอร์เน็ต และเสียงไซเรน พร้อมไมค์กระจายเสียง 2. เรือพลังลมช่วยน้ำท่วม โดย มทร.อีสาน สามารถแล่นได้ทั้งน้ำลึกและน้ำตื้น หรือในน้ำที่มีวัชพืชและรับน้ำหนักได้ถึง 400 กิโลกรัม โดยเรือทั้ง 3 ลำนี้ ได้มีการส่งมอบพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับ มรภ.พิบูลสงคราม และ มรภ.กำแพงเพชร ในฐานะกลไกมหาวิทยาลัยในพื้นที่ และได้ส่งต่อเรือให้กับนายก อบต.ดงเดือย อ.กงไกรลาศ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วม และมีหลายชุมชนในพื้นที่ถูกตัดขาด การช่วยเหลือลำบาก ต้องอาศัยเรือในการเข้าช่วยเหลือ

หลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย หน่วย บพท. จะจัดตั้งหน่วยบริการเคลื่อนที่ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องมือการเกษตร และบำบัดฟื้นฟูสุขภาพจิต ร่วมกับเครือข่าย มรภ.ภาคเหนือ 6 มหาวิทยาลัยและ มทร.ล้านนา โดยจะใช้การสำรวจเพื่อค้นหา ชี้เป้า สอบถามปัญหา และความต้องการความช่วยเหลือในพื้นที่ เพื่อให้การบรรเทาภัยตรงตามความต้องการของผู้ประสบภัย นำร่อง 6 หน่วย ในพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย 1. เชียงราย โดย มรภ.เชียงราย 2. น่าน และแพร่ โดย มรภ.อุตรดิตถ์ และ มทร.ล้านนา 3. สุโขทัย โดย มรภ.กำแพงเพชร และ มรภ.พิบูลสงคราม 4. พิษณุโลก โดย ม.นเรศวร 5.นครสวรรค์และชัยนาท โดย มรภ.นครสวรรค์ 6.อยุธยา โดย มรภ.อยุธยา

ในระยะถัดไป หน่วย บพท. จะร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ และภาคีเครือข่ายจะร่วมกันออกแบบการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบจัดการภัยพิบัติ ทั้งการป้องกัน รับมือ บรรเทา และการฟื้นฟู ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและสถานการณ์ในปัจจุบัน ด้วยวิจัย วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม

สถิติการเข้าชม