เมื่อระหว่างวันที่ 9-11 สิงหาคม 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วย บพท. นำผลงานในธีม “เมืองแห่งการเรียนรู้ บนฐานทุนวัฒนธรรม และชุนชนนวัตกรรม พื้นที่เชียงใหม่-ลำปาง” เข้าร่วมจัดแสดงในวาระกิจกรรมการตรวจเยี่ยมงานด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของหน่วยรับงบประมาณ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำปาง (เมืองสร้างสรรค์และเศรษฐกิจสีเขียว) โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (กสว.) ในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมด้วย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ กรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงบประมาณ นำโดย นางวีณา บรรเลงจิต นักวิเคราะห์งบประมาณชำนาญการพิเศษ และคณะเข้าตรวจเยี่ยม
การตรวจเยี่ยมครั้งนี้ หน่วย บพท. ได้นำเสนอผลงาน “แม่เหียะโมเดล การยกระดับเทศบาลเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็น Smart City ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” ผ่านการใช้ผลงานวิจัยด้าน “Digital Transformation” ในการพัฒนาระบบบริหารและระบบบริการของเทศบาลเมืองแม่เหียะ ณ เทศบาลเมืองแม่เหียะ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแม่เหียะ และนางสาวอังคณา ปริยสิริ รองปลัดเทศบาลเมืองแม่เหียะ ให้การต้อนรับ โดยผู้บริหารเมืองและนักวิจัยของหน่วย บพท. ได้สะท้อนภาพการทำงานร่วมกับเทศบาลเมืองแม่เหียะมาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลเชิงประจักษ์ อาทิ ระบบสารสนเทศเพื่อการวางแผนพัฒนาเมือง การเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน รวมถึงการออกแบบและดำเนินการต้นแบบนิเวศเมืองคาร์บอนต่ำระดับเมือง การเดินทางอัจฉริยะโดยการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การบริหารจัดการเศษขยะจากสถานประกอบการ ระบบนิเวศที่มีคุณภาพและยั่งยืนสำหรับการเป็นเมืองสีเขียวผ่านการจัดการผักอินทรีย์ เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ลดคาร์บอน ซึ่งล้วนมีเป้าหมายในการพัฒนากลไกและต้นแบบธุรกิจที่เอื้อต่อการลงทุนเชิงพื้นที่ที่มุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนตํ่าที่น่าอยู่ ภายใต้การบริหารพื้นที่โดยเทศบาลเมืองแม่เหียะ ด้วยการจัดทำระบบฐานข้อมูลเปิดของเมืองคาร์บอนต่ำเพื่อทำคาร์บอนฟุตพรินท์ของเมือง การส่งเสริมการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่จะนําไปสู่ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองน่าอยู่
นอกจากนี้ หน่วย บพท. ยังได้นำเสนอผลการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดลำปาง “การพัฒนาเมืองลำปางสู่เมืองแห่งการเรียนรู้จากฐานภูมิทางสังคมและวัฒนธรรม สู่กระบวนการสร้างแบรนด์อัตลักษณ์ใหม่ของเมือง กับกระบวนการการบริหารจัดการภูมิทัศน์วัฒนธรรมชุมชน และการพัฒนาย่านวัฒนธรรมชุมชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่อย่างยั่งยืน” ผ่านการส่งเสริมการจัดการตลาด โดยมีนายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อม รศ.ดร.สุพรรณี ฉายะบุตร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำปาง ให้การต้อนรับ ณ กาดนั่งก้อม สวนสาธารณะหนองกระทิง จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็น 1 ในการพัฒนา 6 ย่านวัฒนธรรม ได้แก่ กาดเก๊าจาว กาดนั่งก้อม กาดกองต้า ท่ามะโอ ชาติพันธุ์ไทลื้อ เซรามิคท่าผา จากนั้นยังจัดให้มีนิทรรศการ “Lampang Learning City” ที่มาจากฐานทุนวัฒนธรรม ซึ่งมีการต่อยอดและขยายผล จนเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิต และผู้ย้อมผ้าจาก “สีครั่ง” กว่า 13 อำเภอ นำไปสู่การสร้างแบรนด์อัตลักษณ์ใหม่ภายใต้แนวคิด “ลําปางเมืองผ้าย้อมครั่ง” ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัดลำปาง เกิดรายได้รวม 10 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (เดือนเมษายน 2566 ถึง เดือนมีนาคม 2567) กว่า 4,564,350 บาท รวมถึงนิทรรศการ “เกษตรมูลค่าสูงจากฐานทรัพยากรพื้นถิ่น” ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ โดยใช้ตัวแบบการเรียนรู้นวัตกรรมกระบวนการสร้างห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ก่อให้เกิดนวัตกรชุมชนมากกว่า 188 คน เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้วย BCG จำนวน 17 เทคโนโลยี เทคโนโลยีการสร้างห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง จำนวน 23 เทคโนโลยี และเทคโนโลยีการสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ จำนวน 60 เทคโนโลยี ส่งผลให้นวัตกรชุมชนสามารถสร้างรายได้จากเดิมสูงขึ้นร้อยละ 10 (ในปี 2563) พร้อมเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้แทนชุมชน ผู้แทนนวัตกรชุมชน ผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่ และนักวิจัยในพื้นที่ ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาลำปางอีกด้วย โดยการจัดงานครั้งนี้ แสดงผลเชิงรูปธรรมที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยและนวัตกรรม สู่การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำปาง
การนี้ รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร กล่าวว่า “สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ หน่วย บพท. สนับสนุนทุนวิจัย และนวัตกรรม ให้แก่หน่วยงาน/สถาบันการศึกษา/มหาวิทยาลัย ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดภาคเหนือ จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ กําแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลําปาง ลําพูน เลย สุโขทัย และอุตรดิตถ์ ซึ่งมีการพัฒนาพื้นที่ในทุกระดับ ทั้งด้าน การแก้จน เพิ่มศักยภาพครัวเรือน ส่งเสริมชุมชน และการพัฒนาเมือง และจากการตรวจเยี่ยมชมในครั้งนี้ยังสามารถแสดงให้เห็นว่า ในพื้นที่เชียงใหม่ – ลำปาง เป็นพื้นที่ที่มีชีวิตจากกระบวนการเมืองแห่งการเรียนรู้จากการรวมพลังหลายภาคส่วน ในปัจจุบันที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความท้าทายสูง แต่ด้วยแรงขับเคลื่อนในการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรร ร่วมกับฐานวัฒนธรรม นับเป็น การแสดงพลังของทั้ง 2 พื้นที่ และคาดหวังว่าจะสามารถใช้โมเดลของเชียงใหม่ – ลำปาง ในการเป็นพื้นที่ให้คนอื่นเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันได้ต่อไป”