กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับ 6 มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ จัดแสดงผลงานโมเดลแก้จนสู่การยกระดับด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้เพื่อขยายผลกับกลุ่มคนยากจนต้นแบบ กว่า 104 ผลงาน จากงานสัมมนาพหุภาคีในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง และสามจังหวัดชายแดนใต้ โหม๋ภาคีพร้อมพรั่ง เพิ่มพลังแก้จน… ปรับปรนผลงาน ความรู้ เทคโนโลยีพร้อมใช้ โยงใยสู่ชุมชนนักปฏิบัติ มีผู้สนใจทั้งจากภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชน เข้าร่วมงานกว่า 525 คน
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 กระทรวง อว. โดย น.ส. ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. มอบนโยบายให้หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ยกระดับโมเดลแก้จนที่มีรูปธรรมความสำเร็จ ด้วย 104 ผลงาน ใน 8 กลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้ ที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และศักยภาพครับเรือนยากจนเป้าหมาย คือ 1) พลังงานและเทคโนโลยีชีวมวล 2) เทคโนโลยีการเกษตร พืชเศรษฐกิจ และการแปรรูปพืชเศรษฐกิจ 3) งานสร้างสรรค์และผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบธรรมชาติ 4) เทคโนโลยีปศุสัตว์และอาหารสัตว์ 5) เทคโนโลยีดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ที่สนับสนุนการแก้ปัญหาภัยพิบัติ 6) เทคโนโลยีอาหาร สมุนไพรและการแปรรูป 7) ประมง อาหารทะเลและเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารทะเล 8) นวัตกรรมสังคมและคุณภาพชีวิต เพื่อนำไปสู่ารยกระดับการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่คนจนในพื้นที่
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. กล่าวเปิดการสัมมนา และสะท้อนความเห็นต่อผลงาน ความรู้ และเทคโนโลยีพร้อมใช้กับชุมชนนักปฏิบัติว่า “มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการนำองค์ความรู้ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อววน. สู่การพัฒนาพื้นที่ มาหนุนเสริมงานแก้ไขปัญหาความยากจนที่ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับนโยบายของท่านรัฐมนตรีศุภมาส ซึ่งมุ่งมั่นที่จะทำให้ กระทรวง อว. เป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศด้วยความรู้และนวัตกรรมที่มี เป็นความหวัง เป็นที่พึ่งให้ประชาชนในการพัฒนาเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาสำคัญ การดำเนินงานของโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนของทั้ง 6 มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ จึงเป็นการดูแลพี่น้องประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างสันติภาพในพื้นที่ หรือที่เรามักพูดถึงสันติภาพที่กินได้”
ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า “การสัมมนาในครั้งนี้เกิดขึ้นจากข้อตกลงร่วมกันของเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างและ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยอย่างต่อเนื่องจากหน่วย บพท. ที่จะร่วมกันพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาแก้จน สร้างการเรียนรู้และสนับสนุนกันและกันเพื่อขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ เพื่อช่วยให้ครัวเรือนยากจน ธุรกิจชุมชน กลุ่มและชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สะท้อนเป้าหมายหลักของงานแก้จน poor 2 power ให้คนจนพึ่งตนเองได้”
การสัมมนาครั้งนี้ ยังมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วย “การขับเคลื่อนข้อมูลเพื่อการตัดสินใจพัฒนาพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและยกระดับฐานะทางสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้“ ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูล และร่วมกันบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ (DSS) พื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและยกระดับฐานะทางสังคมในจังหวัดชายแดนใต้ เป็นการเปิดมิติใหม่สลายความรุนแรงชายแดนใต้ด้วยพลังข้อมูลและพลังภาคี
ในท้ายที่สุด ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา กล่าวว่า “สันติภาพจะเกิดได้ เมื่อมีสันติภาพรายได้” เมื่อไรที่ไม่เกิดการจ้างงานในพื้นที่ก็จะไม่เกิดรายได้ และเป็นการยกระดับความคิดไปสู่ การสร้างกลไกธุรกิจพื้นที่ที่ชัดเจน สร้างงานในพื้นที่ กระจายรายได้ไปสู่ครัวเรือนฐานราก การนำทางไปสู่รูปแบบใหม่ในการการใช้ความรู้ เพื่อยกระดับศักยภาพและขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยการสนับสนุนจากระบบกองทุน อววน. ภายใต้ความร่วมมือกันของภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่”