เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.67 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร กลุ่มพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ณ วัดบางอำพันธ์ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ โดยมี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. และผู้บริหารกระทรวง อว. เข้าร่วม โดยมีนายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ชัยภูมิ เขต 3 น.ส.สุรีวรรณ นาคาศัย คณะที่ปรึกษานายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ผู้นำชุมชน ผู้นำเกษตรกรและประชาชนให้การต้อนรับและเข้าร่วม
โดย น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า “จังหวัดชัยภูมิ ถือเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่การเกษตรและเกษตรกรอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็มีปัญหาในเรื่องของการทำการเกษตร เช่น เรื่องของแหล่งน้ำ การใช้สารเคมีในการทำการเกษตร เป็นต้น ผู้บริหารและหน่วยงานในกระทรวง อว. จึงร่วมกันหาวิธีการแก้ปัญหา โดยมีนโยบายเร่งด่วน คือนโยบาย “โดรนแก้จนเพื่อการเกษตร” เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสหรือผลกระทบจากสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร ลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น”
รมว.อว. กล่าวต่อว่า “ทั้งนี้ นโยบายโดรนแก้จนเพื่อการเกษตรมีจุดมุ่งหมายคือ การช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยหลังจากมีการศึกษาถึงรูปแบบวิธีการที่จะนำมาช่วยเหลือเกษตรได้แล้ว นโยบาย “โดรนแก้จนเพื่อการเกษตร” อาจจะนำมาใช้นำร่องที่ จ.ชัยภูมิ เป็นพื้นที่แรก นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังจะนำเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ปุ๋ย และสารชีวภัณฑ์ เรื่องการเกษตรแม่นยำ เรื่องของนวัตกรรมเพื่อเกษตรอินทรีย์ เรื่องของชุดตรวจโรคพืชและสัตว์ เป็นต้น มาสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคการเกษตรให้กับเกษตรกร”
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. ได้เข้าร่วมพร้อมนำผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมพร้อมใช้ ที่เกิดจากการหนุนเสริมด้วยกองทุน อววน. ภายใต้การบริหารจัดการทุนโดย หน่วย บพท. มาเผยแพร่และนำเสนอผลสำเร็จในรูปแบบนิทรรศการภายในงาน อาทิ ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ ชาข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ ข้าวเม่านางรอง ผ้าไหมสุรินทร์ นวัตกรรมเครื่องสาวไหม เครื่องฟอกย้อม เครื่องดึงเส้นไหม เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อเป็นการขานรับนโยบายของกระทรวง อว. ยังมีการแสดงและสาธิตตัวอย่างความสามารถของนวัตกรรม“โดรนเพื่อการเกษตร” โดยนวัตกรนักบินโดรน ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วย บพท. เพื่อลดการสัมผัสสารเคมีในกระบวนการผลิตอ้อย ข้าว และมันสำปะหลังรวมถึงลดต้นทุนการผลิตและสร้างแรงงานคืนถิ่นให้กับพื้นที่ ตลอดจนสร้างรายได้ให้กับนวัตกรนักบินโดรนเพื่อการเกษตรกว่า 170,000 บาทต่อเดือน นับเป็นการยกระดับรายได้แก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม