กระทรวง อว. โดย บพท. รุกจัดงาน Appropriate Technology MATCHING DAY 2024 “เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน ประจำปี 2567” ในพื้นที่ภาคเหนือ ต่อเนื่องจากภาคใต้และภาคอีสาน ระดมผลงานวิจัย มทร.- มรภ. จัดแสดงเทคโนโลยีพร้อมใช้กว่า 2,316 ผลงาน จากภูมิปัญญานักวิจัยไทย ตั้งเป้าขยายผลขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก แก้หนี้ครัวเรือน จับคู่แก้โจทย์ปัญหาตอบสนอง ความต้องการชุมชนตามบริบทพื้นที่
งาน“เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน ประจำปี 2567” โซนพื้นที่ภาคเหนือ กำหนดจัดขึ้นที่ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 นี้ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ซึ่งกล่าวถึงการจัดงานนี้ว่า “ การขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ผ่านความร่วมมือระหว่างหน่วย บพท.กับเครือข่ายมรภ.และมทร.จะช่วยส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมพร้อมเชื่อมโยงการประยุกต์ใช้และขยายผลเทคโนโลยี นวัตกรรมพร้อมใช้ กับโจทย์ปัญหาและความต้องการของกลุ่มคนในพื้นที่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพร้อมทั้งยกระดับเศรษฐกิจฐานรากทั้งภาคชนบทและเมืองให้พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน”
ด้านดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า “กระทรวง อว. โดย น.ส. ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีกระทรวง อว. มอบนโยบายให้หน่วย บพท. เป็นหน่วยงานหลัก “ขยายผลวิจัยเทคโนโลยีพร้อมใช้เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและแก้หนี้ครัวเรือน” โดยร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) นำเทคโนโลยีพร้อมใช้จากทั้ง 2 สถาบัน จำนวน 2,316 ผลงาน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพร้อมใช้ที่ผ่านการพิสูจน์ประสิทธิภาพและประสิทธิผลการใช้งานจริงมาแล้ว มาจัดแสดง เพื่อให้ประชาชน ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการ ตลอดจนวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ ได้พิจารณานำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ตามบริบทพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างเสริมรายได้ สร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างความอยู่ดีกินดีมีความสุข”
ด้าน ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตล้านนา กล่าวว่า “การจัดกิจกรรม Appropriate Technology Matching Day 2024 โซนภาคเหนือ จะเป็นจุดเปลี่ยนเพื่อสร้างการบูรณาการทุกภาคส่วน สู่การต่อยอดการนำผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ เชื่อมโยงผลงานของนักวิจัยเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั้งสองเครือข่าย สู่การแก้ปัญหาร่วมกันกับกลุ่มคนจนฐานราก เกษตรกรรายย่อย กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของสังคม ชุมชน ท้องถิ่นให้พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน”
รศ.ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า “กิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมจากทั้งสองเครือข่าย โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจาก บพท. ในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี นวัตกรรม พร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนา เชื่อมโยง ประยุกต์ใช้และขยายผล จากผลงานของนักวิจัยทั้งสองเครือข่าย เพื่อสร้างแนวทางการพัฒนาโครงการที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของภาคประชาชนและสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง”
งานนี้เองได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีผู้เข้าร่วมงานถึง 549 คน แบ่งเป็นกลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพ รวมถึงผู้ประกอบการในพื้นที่กว่า 249 กลุ่ม ภายในงานมีการนำเทคโนโลยีพร้อมใช้จำนวน 100 ผลงาน ซึ่งผลงานเหล่านี้จะเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและพึ่งพาตัวเองด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย จากภูมิปัญญาการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนาของนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบด้วย เทคโนโลยีในส่วนการผลิต (ต้นน้ำ) ส่วนการแปรรูปหรือยกระดับการเพิ่มมูลค่าผลผลิต (กลางน้ำ) และเทคโนโลยีด้านการตลาด/โลจิสติกส์ (ปลายน้ำ)
สำหรับการจัดงานทั้ง 3 ภาค ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการจับคู่เทคโนโลยีพร้อมใช้แล้วกว่า 1,111 คู่ โดยในการจัดงานครั้งถัดไปที่โซนภาคกลาง กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพมหานคร เวลา 9.00 – 16.00 น. สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ เพจ งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่ บพท.