“กระทรวง อว. หนุน บพท. ร่วมกับเครือข่าย มรภ.และ มทร.ทั่วประเทศ จัดแสดงผลงานเทคโนโลยีพร้อมใช้กว่า 2,300 ผลงาน จากภูมิปัญญานักวิจัยไทย ในงาน“Appropriate Technology Matching Day 2024” 4 ภูมิภาค ปูรากฐานสำคัญของการพึ่งพาตัวเองด้านเทคโนโลยี และขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวข้ามกับดักความยากจน ไปสู่ความมั่นคง-มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน”
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า “งานในวันนี้กระทรวง อว. โดย น.ส. ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีกระทรวง อว. มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัด มีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) นำเทคโนโลยีพร้อมใช้จากทั้ง 2 สถาบัน จำนวน 2,308 ผลงาน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพร้อมใช้ที่สามารถประยุกต์ใช้ในบริบท หรือ กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสำเร็จแล้ว มีราคาที่เหมาะสม ชาวบ้านเข้าถึงได้ มาจัดแสดงเพื่อให้เกิดการจับคู่กันระหว่างเทคโนโลยีพร้อมใช้และกลุ่มชุมชนในโซนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด
สำหรับครั้งที่ 2 โซนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดขึ้นที่โรงแรมดิ อิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ มุ่งเน้นการถ่ายทอดและจับคู่นวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยคัดสรรมาจัดแสดงและเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มคนจนฐานราก เกษตรกร กลุ่มอาชีพ และผู้ประกอบในพื้นที่ ได้พบปะกับนักวิจัยของ 2 เครือข่ายมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มรภ.ในกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้ง 11 แห่ง ได้แก่ มรภ.มหาสารคาม สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครราชสีมา สกลนคร อุบลราชธานี เลย อุดรธานี ศรีษะเกษ ร้อยเอ็ด และเครือข่าย มทร. 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาเขต นครราชสีมา ขอนแก่น สุรินทร์ สกลนคร และร้อยเอ็ด”
ผู้อำนวยการหน่วย บพท. กล่าวต่อว่า “ภายในงานมีการแสดงเทคโนโลยีพร้อมใช้ 71 ผลงาน จากเครือข่ายมหาวิทยาลัยมทร.และมรภ. ซึ่งมีการเชื่อมโยงการใช้งานจริงกับ 213 กลุ่มวิสาหกิจชุมชมและผู้ประกอบการในชุมชน ขณะที่มีผู้เข้าร่วมงานในวันนี้ที่มีส่วนร่วมกันคิดค้นและประมวลองค์ความรู้ให้ตรงกับโจทย์ปัญหาและความต้องการที่เหมาะสมกับภูมิสังคมเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมจำนวนกว่า 600 คน โดยประเภทของเทคโนโลยีพร้อมใช้ มีด้วยกันหลายประเภท อาทิ นวัตกรรมอาหารสัตว์ชุมชน จากเศษวัสดุการเกษตรที่เป็นฐานทรัพยากรในท้องถิ่น ระบบการนึ่งข้าวฮางประสิทธิภาพสูงด้วยไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวลเครื่องคัดแยกเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกคุณภาพสูง เทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการผลิตเส้นไหมและการเตรียมเส้นไหม เครื่องผลิตเส้นไหมพุ่งแบบครบวงจร ระบบการบริหารจัดการน้ำแบบอัตโนมัติ ตู้ควบคุมอัตโนมัติสำหรับเกษตรแปลงใหญ่ รวมไปถึงกระบวนการบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ฯลฯ ซึ่งจะกระตุ้นและจุดประกายความคิดให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ รวมทั้งเกิดการจับคู่นำเทคโนโลยีพร้อมใช้ 476 คู่นวัตกรรม ที่สามารถนำไปต่อยอด ตอบสนองความต้องการของชุมชน นำมาใช้จัดการปัญหาสำคัญในชุมชน หรือการสร้างโอกาสใหม่ในชุมชนหรือพื้นที่”
“งานเทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน ที่ผ่านมาทั้งภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ศูนย์การประชุมนานาชาติดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 21 พฤษภาคม และในพื้นที่ภาคกลาง ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพฯ ในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้”
รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า “งานนี้ทำให้เกิดการพบกันระหว่างนวัตกรรมพร้อมใช้ ที่มหาวิทยาลัยเครือข่ายมทร.และมรภ. ได้ร่วมกันคิดค้นและผลักดัน ทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะกับเกษตรกรในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งในการเลือกใช้นวัตกรรมที่เหมาะสม บางกลุ่มสามารถทำได้ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ถึงปลายทาง จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้มากกว่า 2 นวัตกรรม บางกลุ่มที่มีความพร้อมมากอาจจะสามารถเลือกใช้ได้ถึง 10 นวัตกรรม หรือบางนวัตกรรมสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับ 10 กลุ่มก็ได้ ฉะนั้นนี่คือความหมายของความเหมาะสมของในการนำไปใช้เพื่อให้เกิดมูลค่าอย่างแท้จริง“
ด้าน รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า “โครงสร้างประเทศเรา โดยเฉพาะกระทรวง อว. มีเป้าหมายหลักคือไม่เพียงแต่การผลิตบัณฑิตอย่างเดียว แต่มีเป้าหมายให้มหาวิทยาลัยเป็นหัวรถจักรในการขับเคลื่อนประเทศให้พ้นกับดักรายได้ปานกลางที่ติดมาอย่างยาวนาน ฉะนั้นบทบาทของหน่วยบพท. จึงเป็นหน่วยงานที่รัฐบาล จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัยที่มี know how และเทคโนโลยี เพื่อช่วยให้ภาคพื้นที่ ชุมชน และฐานราก เกิดความเข้มแข็งและสามารถเดินหน้าต่อไปได้“