หน่วย บพท. หนุนการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงมหาดไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมการตรวจสอบคุณภาพน้ำอุปโภคขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้กำหนดเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองท้องถิ่น (Local performance Assessment :LPA) ด้านที่ 4 การบริการสาธารณะ ตัวชี้วัด “ตรวจสอบคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภคขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)” โดยตรวจประเมินองค์ อปท. ทุกแห่ง ยกเว้นองค์การบริหารส่วนจังหวัด และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้มีแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ได้กำหนดตัวชี้วัด “จำนวน อปท. ที่มีเกณฑ์คุณภาพน้ำอุปโภคบริโภคได้ตามมาตรฐานที่กำหนด” โดยมีนโยบายให้ อปท. ขับเคลื่อนการจัดทำฐานข้อมูลระบบประปาทุกระบบในพื้นที่ของ อปท. และปรับปรุงข้อมูลในระบบข้อมูลกลางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (INFO) ให้เป็นปัจจุบัน จัดให้มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภคทุกระบบที่ใช้งานอยู่ในพื้นที่ด้วยเครื่องมือภาคสนามอย่างง่ายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พร้อมทั้งรายงานผลการตรวจคุณภาพน้ำที่ได้มาตรฐานอุปโภคบริโภคและประชาสัมพันธ์ผลการจรวจสอบคุณภาพน้ำให้ประชาชนทราบ

จากการขับเคลื่อนงานวิจัยของหน่วย บพท. ที่ผ่านมา ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและยกระดับขีดความสามารถในการจัดการภาครัฐและท้องถิ่นได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “แพลตฟอร์มดิจิทัลแบบชาญฉลาดติดตามคุณภาพน้ำในระบบประปา อปท. ผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีทั่วประเทศ” ซึ่งมี ศ.น.สพ.ดร.ศุภชัย เนื้อนวลสุวรรณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ และงานวิจัยดังกล่าวได้มีการการสํารวจข้อมูลคุณภาพนํ้าประปา การประเมินความเสี่ยงจุลินทรีย์จากการใช้นํ้าประปา อปท. พื้นที่ จังหวัดปทุมธานี พร้อมกันนี้ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์และเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพน้ำประปารองรับการติดตามตรวจสอบ E.coli พัฒนาระบบเฝ้าระวัง/แจ้งเตือนข้อมูลคุณภาพนํ้าประปา ด้วย web page และ web application ในพื้นที่ศึกษาวิจัยนำร่อง จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ เทศบาลเมืองคลองหลวง และ เทศบาลเมืองท่าโขลง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวมีจุดเด่นคือให้ผลตรวจวิเคราะห์รวดเร็ว ราคาไม่แพง ใช้งานง่าย และผลการตรวจเชื่อมต่อกับระบบ internet ได้ และยังเป็นต้นแบบในการเสริมสร้างองค์ความรู้ และเป็นการยกระดับความสามารถของ อปท. ในการตรวจวัดคุณภาพน้ำประปา พร้อมกันนี้จะมีการขับเคลื่อนงานวิจัยในระยะต่อไปโดยจัดทำหลักสูตรการตรวจวัดคุณภาพน้ำประปาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทั้งระบบในส่วนของบุคลากรในสังกัด อปท. สถาบันการศึกษา ภาคชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพชุดตรวจรวดเร็ว E.coli และกายภาพ (loT) และจัดทำระบบข้อมูลของ อปท. สู่การเข้าถึงข้อมูลของประชาชน การขับเคลื่อนงานดังกล่าวสอดคล้องกับ LPA ด้านที่ 4 การบริการสาธารณะ ตัวชี้วัด “ตรวจสอบคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภคของ อปท. อีกด้วย

สถิติการเข้าชม