บพท. ใช้ ประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) หวังสร้างการบ่มเพาะ มุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยที่มีคุณภาพตรงเป้าหมายตามตัวชี้วัดกรอบวิจัย “โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด“ ณ โรงแรม GRAND PA Hotel & Resort Lamphun จังหวัดลำพูน

การประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนองค์ความรู้และเทคโนโลยี ที่เกิดจากผลการดำเนินงานวิจัย ภายใต้ยุทธศาสตร์ “การพัฒนาเมืองน่าอยู่และกระจายศูนย์กลางความเจริญ“ ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยในช่วงระยะเวลาการดำเนินงานระหว่างปีพ.ศ.2563 – 2566 เกิดผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่สามารถนำไปสู่การจัดการเมืองและแก้ปัญหาของเมืองได้ โดยการดำเนินงานในปีพ.ศ. 2567-2568 จึงนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยของหน่วยบพท. กว่า 30 ชิ้นทั้ง Hard Technology หรือ เทคโนโลยีมีที่มาจากเครือข่ายที่ได้มีการพัฒนาหรือเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนกระบวนการร่วมกับหน่วยบพท. หรือเป็นผลที่เกิดจากงานวิจัยอันก่อให้เกิดการพัฒนาหรือการร่วมสร้างเทคโนโลยีผ่านการดำเนินงานของหน่วยบพท.ที่ผ่านมา เช่น ฐานข้อมูล GIS ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ Geographic information system : GIS และระบบฐานข้อมูล (Database System) ระบบสำรวจข้อมูลเมือง (Urban Survey)เป็นต้น และ Soft Technology หรือ เทคโนโลยีที่เกิดจากการสังเคราะห์รวบรวมองค์ความรู้ที่ได้จากกรอบงานวิจัยต่าง ๆ ที่ดำเนินงานและการขับเคลื่อนกลไกในการพัฒนาระดับพื้นที่ของหน่วยบพท. รวมถึงการรวบรวมและสังเคราะห์เป็นแนวทางในการดำเนินงานที่เป็นลักษณะของเทคโนโลยีพร้อมใช้ที่เน้นการขับเคลื่อนความรู้และกลไก ตลอดจนการสร้างความร่วมมือ เช่น นโยบายการลงทุน และกองทุนเมือง (Crowd Sorting and Crowd Funding Mechanism) และการทำพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ของเมือง (City Learning Space) เป็นต้น การนำ Hard TechnologyและSoft Technology มาบูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ โดยเฉพาะหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในกรอบการวิจัย “บ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด“ มีหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาลเมือง และนคร ร่วมกับนักวิจัยในพื้นที่รวม 16 เมือง ได้แก่ เทศบาลเมืองพนัสนิคม เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เทศบาลเมืองทุ่งสง เทศบาลเมืองลำพูน เทศบาลเมืองสระบุรี เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครลำปาง เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลนครพิษณุโลก เทศบาลเมืองแพร่ เทศบาลเมืองศรีสะเกษ เทศบาลนครนนทบุรี เทศบาลเมืองชุมพร เทศบาลนครนครสวรรค์ และเทศบาลนครสกลนคร เกิดการร่วมพัฒนา Solutions อย่างเหมาะสมสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางของโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

นอกจากการประชุมหารือในครั้งนี้จะช่วยพัฒนาโครงการตามโปรแกรม“บ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด“ ยังเป็นโอกาสของนักวิจัยจากพื้นที่ 16 เมือง ร่วมลงพื้นที่ดูงานเพื่อศึกษาต้นแบบการพัฒนาเมืองโดยใช้ฐานงานวิจัยเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองลำพูน โดยการต้อนรับจาก นายประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองลำพูน และเจ้าหน้าที่ ด้วยบรรยากาศอันอบอุ่น

สถิติการเข้าชม