บพท. จับมือ 9 มทร. ขับเคลื่อน”การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ยกระดับคุณภาพชีวิต”

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. เข้าร่วมการจัดงานสัมมนาทางวิชาการ RMUT Appropriate Technology Symposium 2024 “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 26 – 27 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมคริสตัลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยเป็นประธานในการเปิดงาน รวมถึงผู้บริหารและบุคลากรจากเครือข่ายการวิจัย 9 มทร. กว่า 260 คน เข้าร่วมงาน

 การจัดงานในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ หน่วย บพท. และเครือข่าย มทร. จัดทำแผนงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมของประเทศ ภายใต้แผนงานวิจัย “การประยุกต์ใช้และขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสร้างขีดความสามารถและโอกาสทางสังคม สำหรับคนจนเป้าหมายในพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์” ดำเนินการวิจัยในพื้นที่ทั้งหมด 7 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง,กาฬสินธุ์,ร้อยเอ็ด,มุกดาหาร,พัทลุง,ปัตตานี และยะลา ผ่านการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการประยุกต์ใช้และขยายผลนวัตกรรมพร้อมใช้/เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อนำไปใช้ช่วยเหลือคนจนกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจากความร่วมมือดังกล่าวสามารถรวบรวมผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้/เทคโนโลยีที่เหมาะสม มาพัฒนาเป็นระบบฐานข้อมูลเทคโนโลยีที่เหมาะสม มากกว่า 1,000 ผลงาน

ในการนี้ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ”บทบาทของ บพท. ต่อการหนุนเสริมเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสร้างโอกาสทางสังคม” ที่กล่าวถึงโครงสร้างการพัฒนาระดับพื้นที่ที่ประกอบไปด้วย 4 ด้าน คือ พื้นที่, ภาคประชาสังคม, การตลาดและความรู้ ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเป็นแกนหลัก ดังนั้นจึงต้องสร้างฐานความรู้ Knowledge stock ของเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสำเร็จแล้ว เพื่อนำไปสู่การสร้าง Platform สร้างการเรียนรู้ ก่อนนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทที่แตกต่างกัน เพื่อเสริมสร้างทักษะอาชีพ ยกระดับรายได้ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่กลุ่มคนจนเป้าหมายให้เข้าถึงโอกาสในการยกระดับฐานะทางสังคม (Social Mobility) ต่อไป

นอกจากนี้ภายในงานมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยจากนักวิจัยภายใต้แผนงานการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ทั้ง 7 จังหวัดเป้าหมายในพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ และผลงานวิจัยจากนักวิจัยเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

สถิติการเข้าชม