เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและร่วมหารือแผนพัฒนาพื้นที่เป็นสนามบินจังหวัดพะเยา ณ กว๊านพะเยา พร้อมสักการะอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง กษัตริย์ลำดับที่ 12 แห่งเมืองพะเยา โดยมี นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ผู้บริหารส่วนราชการ ส่วนท้องถิ่น และประชาชนจังหวัดพะเยาให้การต้อนรับ
จากนั้น นายกฯ พร้อมคณะ นั่งรถรางจากอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง ไปที่อุทยานการเรียนรู้พะเยา (TK Park) โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะผู้บริหารภายใต้หน่วยงานให้การต้อนรับ ซึ่งภายในงานมีการจัดแสดงบูธจากหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเวทีเสวนาของผู้ได้รับประโยชน์จากงานวิจัยพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ PHAYAO LEARNING CITY ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ร่วมแลกเปลี่ยนและสะท้อนถึงการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้พะเยา ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดพะเยาให้เป็นพื้นที่เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ในเครือข่าย UNESCO ที่ประสบผลสำเร็จและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 4
โดยโครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ ได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่าย และขับเคลื่อนโครงการตลอด 4 ปี ผ่านหลักสูตร Non-degree และแหล่งเรียนรู้รอบกว๊านพะเยาที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐานของมหาวิทยาลัยพะเยา มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาทักษะที่จำเป็นกับชีวิต เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะบริการ ทักษะดิจิทัลการทำธุรกิจขนาดเล็กที่มีการจำลองการทำอาชีพจริง โดยใช้ TK Park เป็นศูนย์การเรียนรู้ และใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและแหล่งเรียนรู้ชุมชนผสมผสานกับองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยเป็นฐานในการขับเคลื่อนเมืองให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อสร้างรายได้ สร้างความสุขแก่ทุกคน ดังคำกล่าวที่ว่า “พะเยา แหล่งเรียนรู้ทันสมัย ใกล้บ้าน มีงานทำ”
การนี้หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. ได้ร่วมต้อนรับ พร้อมกล่าวเสริมถึงการเชื่อมโยง Learning City Thailand Platform กับเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ในประเทศไทย โดยการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืนจากการสร้างกระบวน Lifelong Learning ในระบบคนรุ่นใหม่จากกลุ่มคนที่มีหัวใจรักบ้านรักเมืองเพื่อจะสร้างเมืองของการเรียนรู้ขึ้นมา การหา Lifelong Learner ต้องมีแหล่งเรียนรู้ พื้นที่การเรียนรู้ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้และทำให้ Learning City เป็นดั่ง Complex Program และที่สำคัญคือการร่วมกันสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ไปด้วยกัน ทำงานร่วมกันเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของลูกหลานในอนาคตต่อไป