บพท. พาสื่อลงนราธิวาส ดู ‘ผล’ จากการพัฒนาพื้นที่โดยใช้ “วิจัยและนวัตกรรม”

เมื่อวันที่ 7-8 มีนาคม 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบพท. ร่วมกับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรศึกษาดูงานการพัฒนาพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ณ จังหวัดนราธิวาส

กิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรในวันแรก ได้เดินทางเยี่ยมชมผลงานการพัฒนาเชิงพื้นที่ ภายใต้โครงการ”การยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะปูลาโต๊ะบีซูจังหวัดนราธิวาส เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเศรษฐกิจฐานรากสู่มูลค่าเชิงพาณิชย์” ภายใต้กรอบการวิจัย “การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่” ณ เกาะปูลาโต๊ะบีซู ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

ผศ.ดร.ธมยันตี ประยูรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และผศ.สมเกียรติ สุทธิยาพิวัฒน์ หัวหน้าโครงการวิจัยได้กล่าวถึงมูลเหตุจูงใจให้ดำเนินโครงการวิจัยดังกล่าว โดยการรับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นเพราะค้นพบว่า ชาวบ้าน 130 ครัวเรือนจำนวนประมาณ 800 คนที่อาศัยบนเกาะปูลาโต๊ะบีซู ประกอบอาชีพประมง ควบคู่กับการขายแรงงาน มีลักษณะความเป็นอยู่เป็นชุมชนปิด ขาดการติดต่อเชื่อมโยงกับโลกภายนอก ต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้ยืมจากผู้มีอุปการคุณในยามขัดสน ในช่วงเวลาที่ไม่สามารถออกเรือไปทำการประมง ส่งผลให้ทุกคนทุกครัวเรือนบนเกาะล้วนมีความยากจน และมีปัญหาหนี้สินเรื้อรัง คณะวิจัยได้ลงสำรวจเก็บข้อมูลบนเกาะ และออกแบบกระบวนการแก้ไขความยากจน ด้วยการพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการสินค้าประมงแก่ชาวเกาะ เพื่อช่วยแก้ไขความยากจน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการพูดคุยของความร่วมมือจากผู้มีอุปการคุณที่เป็นแหล่งเงินแก่ชาวเกาะ ผ่อนปรนให้ชาวเกาะนำสินค้าประมงบางส่วนมาแปรรูปแล้วรวมกลุ่มกันจำหน่าย ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้มีอุปการคุณที่เป็นแหล่งเงินทุกรายนอกจากนี้ชุดความรู้และกระบวนการจัดการ ตลอดจนการส่งเสริมสนับสนุนการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนเกาะหัวใจเกื้อกูล ที่คณะวิจัยถ่ายทอดให้แก่ชาวบ้านบนเกาะช่วยให้ชาวบ้านบนเกาะมีหนี้สินลดลง และชาวบ้านบางครัวเรือนสามารถปลดหนี้ได้ อีกทั้งยังดึงดูดให้ชาวบ้านที่อพยพไปขายแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านกลับคืนสู่ภูมิลำเนา

สำหรับกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรในวันที่สอง คณะฯ ได้เดินทางเยี่ยมชมผลงาน โครงการ”การวิจัยพัฒนาตัวแบบเชิงรุกและการยกระดับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนแบบครบวงจร เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากภาวะวิกฤตของกลุ่มผู้ประกอบการฐานรากแบบมีส่วนร่วมในจังหวัดนราธิวาส” ณ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส

ด้านผศ.ดร.บงกช  กมลเปรม คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยได้กล่าวถึงแรงจูงใจของงานวิจัยโครงการนี้ เกิดจากพบว่า กลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการประกอบกิจการแปรรูปทุเรียนเป็นทุเรียนกวนมากที่สุดในจังหวัดชายแดนใต้ ประสบปัญหาทุเรียนกวนคุณภาพต่ำ ทำให้ขายไม่ได้ราคา ทั้งยังขาดทักษะการจัดการ ทีมวิจัยจึงได้ดำเนินกระบวนการวิจัย โดยคัดเลือกกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนแล้วจัดเวทีประชุมทำความเข้าใจเป้าหมายร่วมกัน และวิเคราะห์ความต้องการ ปัญหาของกลุ่มผู้ประกอบการฯ วิเคราะห์ศักยภาพและความพร้อมของกลุ่ม เพื่อออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหาบนความสอดคล้องกับเงื่อนไขข้อจำกัดของกลุ่มผู้ประกอบการฯ จึงพบว่าสาเหตุหลักของปัญหาอยู่ที่กรรมวิธีการคัดเลือกวัตถุดิบคุณภาพ และกระบวนการผลิตทุเรียนกวนที่ถูกสุขลักษณะ ตลอดจนการบริหารจัดการ จึงได้พัฒนาชุดความรู้ถ่ายทอดแก่กลุ่มผู้ประกอบการฯ โดยสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่ จากกระบวนการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ภายใต้โครงการวิจัยดังกล่าวช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น 30% และมีช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผลผลิตได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังส่งผลดีต่อกระแสเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ดีขึ้นในชุมชน รวมทั้งมีนวัตกรในการถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของกลุ่มผู้ประกอบการ ชุมชนและสังคมต่อไป

กิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการพาสื่อมวลชนมาดูผลจากการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยังเป็นการประสานการผนึกพลังกับภาคประชาคมและภาคราชการในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ส่งผลให้ชาวบ้านและชุมชนที่อยู่ในพื้นที่มีกำลังใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตบนฐานทุนที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ สร้างเศรษฐกิจฐานราก เกิดรายได้หมุนเวียนหล่อเลี้ยงชุมชนต่อไปได้อย่างยั่งยืน

สถิติการเข้าชม