บพท. หนุน ขอนแก่น – ยะลา ร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายโลกด้าน “เมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC)” ประจำปี 2567

หน่วย บพท. ขอแสดงความยินดีกับเทศบาลเมืองขอนแก่น และ เทศบาลนครยะลา เนื่องในโอกาสที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC) ประจำปี 2567 ที่ผ่านการพิจารณาขององค์การยูเนสโก โดยสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Institute for Lifelong Learning: UIL) ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ณ กรุงปารีส ที่ผ่านมา

เครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก หรือ UNESCO GNLC เป็นการดำเนินงานโดยสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Institute for Lifelong Learning: UIL) มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนและเร่งรัดให้เกิดการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม โดยส่งเสริมให้เมืองต่างๆ พัฒนาสู่การเป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้” ที่มีคุณลักษณะที่สำคัญคือ เป็นเมืองที่สามารถจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในทุกๆ ภาคส่วน เพื่อจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ในครอบครัว ชุมชน และที่ทำงาน มีการขยายโอกาสในการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อการเรียนรู้ และสร้างเสริมวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

โดยหน่วย บพท. ภายใต้กระทรวง อว. ได้ดำเนินการกรอบการวิจัย “การพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)” ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยสร้างเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของประเทศไทยเพื่อเข้าสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกตามแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC) สร้างกลไกความร่วมมือระดับพื้นที่ที่เกิดจากนักจัดการการเรียนรู้ในเมือง (City Learning Administrator) รวมถึงสร้างนิเวศการเรียนรู้ของเมือง (City Learning Ecology) ที่ประกอบด้วย พื้นที่การเรียนรู้ ตัวความรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้ จนนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับคนในพื้นที่ โดยผลการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมา สามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้กว่า 29 แห่งทั่วประเทศ เกิดการสร้างกลไกความร่วมมือและผลักดันไปสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโกในปี 2565 2 พื้นที่ คือ พื้นที่จังหวัดพะเยา พื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และสำหรับปี 2567 อีก 2 พื้นที่ คือ พื้นที่จังหวัดขอนแก่น และพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งนับว่าเป็นผลผลิตที่สำคัญของการขับเคลื่อนเมืองที่ใช้ข้อมูลและความรู้จากกระบวนการวิจัยในการยกระดับเมืองแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

เมืองแห่งการเรียนรู้ขอนแก่น : จากการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้เกิด การสร้างกลไกการสร้างความร่วมมือ จังหวัดขอนแก่นมีภาคีเครือข่ายความร่วมมือเดิมที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว โดยมี บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง(เคเคทีที) จำกัด เป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก (Driver) และผู้ประสานความร่วมมือ (Collaborator) ขอนแก่นใช้วิธีการขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายเดิม การทำกิจกรรมร่วมกันก็จะเกิดเครือข่ายใหม่ และกิจกรรมใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกิดการระดมทรัพยากรร่วมกัน นำไปสู่การจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของเมือง ทั้ง KGO TOKEN, METAVERSE และ NFT โดยใช้ KGO Token ในนิเวศการเรียนรู้เป็นรางวัลในการเรียนรู้, การทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน โดยการสร้างโปรโมชั่นให้กับร้านค้าขนาดเล็ก เกิดพื้นที่ในการสานเสวนา พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการต่างๆในพื้นที่ และเกิดพื้นที่การเรียนรู้ Online ได้แก่ www.khonkaenlearningcity.com โดยได้มีการรวบรวมข้อมูลจากกระบวนการท้องถิ่นศึกษา (Local Study) โดยได้ศึกษาประวัติจังหวัดขอนแก่น ความเป็นมาทั้ง 26 อำเภอของผ่านโครงการเล่าเรื่องเมืองผ่านภาพถ่าย ที่ติดตั้งไว้บริเวณ เฮือนโบราณ ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น และSRI CHAN METAVERSE พื้นที่แห่งการเรียนรู้ และสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ในโลก Metaverse โดยใช้ ถ.ศรีจันทร์เป็นพื้นที่นำร่อง แสดงถึงสถานที่เด่น ในถนนศรีจันทร์ ได้แก่ 1.ประตูเมือง 2.ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง 3.ตึกแก่น 4.Hug mall 5.พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ 6.เทศบาลนครขอนแก่น และ 7.Sri Chan One-Stop Business Hub Prototype – Project จาก Sri Chan Makeover เป็นพื้นที่ขายสินค้าชุมชน โดยจุดที่เป็น Hi light สำคัญ คือ พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ พื้นที่การเรียนรู้สำคัญของเมือง นอกจากนี้ยังมีการจัดทำหลักสูตรขอนแก่นศึกษาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการพัฒนาเมืองขอนแก่น ให้กับข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสร้าง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในยุคดิจิทัล และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการ ที่ส่งผลต่อรูปแบบและกระบวนการสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจน และเสริมสร้างความเป็นอยู่ดีสาธารณะ และที่สำคัญยังมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น พิพิธภัณฑ์มีชีวิต และเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ เพื่อให้คนในเมืองมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้มากขึ้น

ยะลาเมืองแห่งการเรียนรู้ : จากการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้เกิดการลงนามประกาศเจตนารมร่วมกันในการสร้างยะลาเมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้แทนจากศึกษาธิการจังหวัดยะลา ผู้แทนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC จังหวัดยะลา หรือหอการค้าจังหวัดยะลา ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จังหวัดยะลา ในการสนับสนุนให้เกิดยะลาเมืองแห่งการเรียนรู้ เกิดข้อมูลศักยภาพเมืองยะลา: ต้นทุนการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ของจังหวัดยะลา ที่ประกอบไปด้วย ทุนกายภาพ: ความหลากหลายชีวภาพ โดยจากการโดยศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืช สัตว์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลสาธารณะและสร้างพื้นที่การเรียนรู้และมุ่งสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเมืองยะลา ทุนวัฒนธรรม: ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาเมืองยะลาซึ่งเอื้อต่อการนำมาต่อยอดเป็นทุนทางวัฒนธรรมในการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ และทุนทางสังคม: นโยบายท้องถิ่นกับการพัฒนาเมืองยะลาพบว่า ยะลาเป็นเมืองที่มีจุดเด่นเพราะผู้บริหารมีวิสัยทัศน์เอื้อต่อการพัฒนาเมืองและเทศบาลนครยะลามีนโยบายฟื้นฟูเมืองด้านทุนของเมืองภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ ซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาเมือง และที่สำคัญนำมาสู่การเกิดกระบวนการสร้างสรรค์เมืองแบบมีส่วนร่วมบนความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ขับเคลื่อนยะลาสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม Yala Stories ซึ่งเป็นกระบวนการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ของเมืองยะลาให้คนเมืองยะลาได้เห็นศักยภาพของเมืองและรูปธรรมของพื้นที่การเรียนรู้ ทั้งในรูปแบบพื้นที่เชิงกายภาพ สร้างกระบวนการเรียนรู้ของเมือง โดยใช้ต้นทุนทางกายภาพมาพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการเรียนรู้ คือ โรงแรมเก่าเมโทร บนย่านสายกลางที่มีความสำคัญ เพราะเป็นทั้งศูนย์กลางเศรษฐกิจของเมืองยะลา เป็นย่านที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเป็นย่านประวัติศาสตร์ของเมืองยะลา และพื้นที่เชิงกระบวนการแบบมีส่วนร่วม ให้ความสำคัญกับการเป็นพัฒนากลไกและกระบวนการในการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาใช้ศักยภาพของตนร่วมพัฒนาเมือง ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การพัฒนาเมืองยะลาไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้มีความยั่งยืน

สถิติการเข้าชม