นายกเศรษฐา ทวีสิน ลงพื้นที่ จ.สกลนคร พร้อมเยี่ยมชมผลงานวิจัยในพื้นที่ที่สนับสนุนโดย บพท.

        เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เดินทางตรวจราชการ พร้อมพบปะพูดคุยกับประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์คือการตรวจเยี่ยมความพร้อมในการพัฒนาแหล่งน้ำ-ถนน และส่งเสริมการท่องเที่ยว ณ จังหวัดสกลนคร หลังลงพื้นที่ได้เห็นโอกาสการสร้างรายได้ของประชาชน

        การตรวจเยี่ยมในช่วงเช้า นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้ร่วมประชุมหารือแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และรับฟังบรรยายสรุปแผนงาน/โครงการของจังหวัดสกลนครที่เสนอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (1.1) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ จังหวัดสกลนคร โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในลุ่มน้ำยาม และลุ่มน้ำอูน 2) ด้านการคมนาคมขนส่ง (โลจิสติกส์) (2.1) โครงการขยายทางหลวงเพิ่มช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 222 สายอำเภอพังโคน – บึงกาฬ ตอน วานรนิวาส – อำเภอคำตากล้า ระยะทางทั้งหมด 128.756 กม. เพื่อรองรับปริมาณการจราจรที่คาดว่าจะสูงขึ้นเมื่อสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568 และสนับสนุนการคมนาคมขนส่งภายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และ 3) ด้านการพัฒนาอาชีพและการท่องเที่ยว (3.1) โครงการศูนย์การเรียนรู้การผลิตโคขุนโพนยางคำแบบครบวงจร โดยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ผลิตโคขุน สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลางโพนยางคำแบบครบวงจร รวมถึงการผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและอาหาร (3.2) โครงการศูนย์นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดสกลนคร ภายใต้แนวคิด “สกลนครโมเดล” โดยการนำนวัตกรรมมาพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน มีเป้าหมายให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช/สัตว์ที่มีศักยภาพสูง สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ การพัฒนาและยกระดับการแปรรูปผลิตภัณฑ์โดยใช้นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี การจัดตั้งศูนย์แปรรูปเพื่อแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีของเกษตรฐานราก การยกระดับภูมิปัญญาผ้าและหัตถกรรมไทยสู่สากล โดยเฉพาะผ้าย้อมคราม ด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยการจัดตั้งโรงงานและจัดหาเครื่องจักร และการสร้างศักยภาพทางการตลาดและสื่อสารสร้างการรับรู้สู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 

        ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า “จากข้อมูลดังกล่าวทำให้รับทราบว่าจังหวัดสกลนคร 80 เปอร์เซ็นต์ของรายได้มาจากด้านการเกษตร และเป็นจังหวัดที่มี GDP ต่ำเป็น Bottom 15 ของประเทศ แต่ไม่มองว่าจังหวัดสกลนครมีปัญหา แต่เป็นโอกาสและมีศักยภาพได้อีกหลายเรื่อง รัฐบาลพร้อมผลักดันและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ พร้อมให้มีการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”

        พร้อมกันนั้นนายกรัฐมนตรียังได้เยี่ยมชมพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาคุณภาพดิน การจัดการแหล่งน้ำ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีผลงานวิจัยของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เข้าร่วมนำเสนอผลงาน ภายใต้โครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดสกลนคร โดยขับเคลื่อนการแก้จนด้วยโมเดลระบบการผลิตผักปลอดภัยแบบครบวงจร เกิดการพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ชุมชนแปรรูปผงผักเคล เกิด Business Matching ผลิตภัณฑ์ผงผักเคลสู่ TOPs Supermarket รวมถึงการใช้ที่ดินแปลงรวมเป็นเครื่องมือการผลิต มีคนจนได้รับผลประโยชน์ 370 ครัวเรือน ส่งผลให้คนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนเพิ่มรายได้ขึ้น ร้อยละ 53 และกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 40% ที่จนที่สุดเพิ่มรายได้ขึ้นร้อยละ 21

        จากนั้นในช่วงเย็น นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้เดินทางเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์สินค้าทางการเกษตร ณ อ่างเก็บน้ำห้วยโทง ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ซึ่งมีผลงานวิจัยที่สนับสนุนโดยหน่วย บพท. กระทรวง อว. ภายใต้โครงการ“สกลนครโมเดล” จากการประสานความร่วมมือของ 3 มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ คือ มรภ.สกลนคร มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร และ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ สกลนคร เพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อน “ตัวแบบเชิงธุรกิจ” (Business Model) ที่ทำให้เกษตรกรมีความรู้และทักษะในการทำเกษตรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เกิดนวัตกรชุมชน และที่สำคัญสามารถยกระดับรายได้ภาคเกษตร โดยประกอบไปด้วยโครงการย่อย ดังนี้

1) การผลิตเนื้อครามและย้อมครามธรรมชาติ สร้างผลิตภัณฑ์ ready to use ของครามผง การผลิตผ้าหน้ากว้างเพื่อการใช้งานให้หลากหลายขึ้น รวมไปถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีอย่างง่าย ขายได้ดี และการตลาดที่ทำให้กลุ่มเกษตรกรเข้มแข็ง เพิ่มรายได้จากก่อนร่วมโครงการที่ 6,533 บาท/คน/เดือน เป็น 14,408 บาท/คน/เดือน หรือเพิ่มขึ้น 7,875 บาท/คน/เดือน คิดเป็น 55% เมื่อสิ้นสุดโครงการ

2) สมุนไพรครบวงจร ประกอบด้วย ธุรกิจการขายเมล็ดพันธุ์ฟ้าทะลายโจร ธุรกิจผลิตต้นกล้าฟ้าทะลายโจร ธุรกิจการจำหน่ายฟ้าทะลายโจรอบแห้งสู่โรงงานยาไม่ผ่านคนกลางและธุรกิจแปรรูปฟ้าทะลายโจรผง/แคปซูล จนสามารถยกระดับรายได้ของกลุ่มเกษตรกรกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้นเฉลี่ยขั้นต่ำ 10,000 ต่อครัวเรือนต่อเดือน โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เกษตรกรสามารถจำหน่ายฟ้าทะลายโจร (สด) จากเดิมขายกิโลกรัมละ 25 บาท ขยับเป็น 150-200 บาท และเมื่อมีการแปรรูปสามารถยกระดับรายได้เป็น 2,000 บาทต่อกิโลกรัม

3) นวัตกรรมดินมีชีวิต ที่ใช้ส่วนประกอบของหัวเชื้อจุลินทรีย์คู่แฝด (จากจาวปลวกและ หน่อกล้วย) ผสมกับ ถ่านกัมมันต์ ปุ๋ยคอก นับเป็นนวัตกรรมดินมีชีวิตที่ใช้ย่อยสลายดินลูกรัง  เพื่อปรับดินให้เหมาะสมต่อการปลูกพืช เพิ่มคุณภาพผลผลิตจากการเกษตร โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมยกระดับจากเกษตรกรทั่วไปกลายเป็นนวัตกรการปรุงดิน และยกระดับเป็นผู้ประกอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงดิน จำนวน 13 ครัวเรือน เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 8,668 บาท เป็น 17,512 บาท คิดเป็น 102%

4) โครงการผักสวนครัว ที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพสินค้าของเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายด้วยการสร้างโรงคัดบรรจุผักและผลไม้ สร้างการตลาดโดยใช้สื่อโซเชียล และการเชื่อมร้อยเกษตรกรผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยการสร้างแบรนด์และเชื่อมโยงไปสู่การสร้างธุรกิจผ่านตลาดสั่งซื้อผักล่วงหน้าออนไลน์ “ผักอินดี้สกลนคร Delivery” ควบคู่กับการใช้กลยุทธ์ตลาดที่หลากหลาย สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรกลุ่มพืชผักสวนครัวเพิ่มขี้นเป็น 10,000 บาทต่อครัวเรือน

        จากการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและแก้ไขปัญหาความยากจนในจ.สกลนคร สิ่งที่สำคัญ คือ มหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่เป็นกลไกสำคัญในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและประสานกับพื้นที่ในการสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนจากการหนุนเสริมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ และยังสร้างโอกาสทางสังคมทั้งในแง่ของการทำให้คนจนที่ตกหล่นจากระบบข้อมูลได้รับความช่วยเหลือ และทำให้คนจนและเกษตรกรได้เรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการและการเชื่อมโยงการตลาดผ่านการสร้างเครือข่ายวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) รวมถึงการสร้างนวัตกรชุมชนที่สามารถประยุกต์ใช้และถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยร่วมพัฒนาทักษะการทำงานกับชุมชน และเป็นกลไกเชื่อมโยงภาคีพัฒนาในพื้นที่ทั้งภาครัฐ อปท. ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ร่วมกัน

สถิติการเข้าชม