บพท. ชี้แจงแนวทางรับทุน กับ 4 เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท. – PMUA) ได้จัดการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจต่อทิศทาง แนวคิด วิธีการและแนวทางการสนับสนุนทุนของ บพท. ให้กับผู้แทนจากเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 4 เครือข่ายประกอบด้วย เครือข่ายที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, เครือข่ายกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ, เครือข่ายกลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล และเครือข่ายวิทยาลัยชุมชน

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา รักษาการผู้อำนวยการหน่วย บพท. กล่าวว่า นอกจากวันนี้จะเป็นการชี้แจงการทำงานของ PMU ที่อยู่ภายใต้แพลตฟอร์มที่ 4 (การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ) ที่มี 3 โปรแกรมหลัก คือ โปรแกรมที่ 13 นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม โปรแกรม 14 ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่ย้ำ และโปรแกรม 15 เมืองน่าอยู่และการกระจายศุนย์กลางความเจริญแล้ว ยังต้องการทราบถึงทุนเดิมในการทำวิจัยเชิงพื้นที่ของเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 4 แห่ง เพื่อวางเป้าหมายและแนวทางการทำงานร่วมกันให้บรรจุวัตถุประสงค์ของแพลตฟอร์มนี้

ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ เลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ตั้งแต่มีการจัดตั้งเครือข่ายเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษา ในปี 2547 ขณะนี้งานวิจัยของแต่ละเครือข่ายได้นำปัญหาของพื้นที่มาวิเคราะห์และทำเป็นโจทย์วิจัยทั้งในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไว้เรียบร้อยแล้ว รวมถึงการมี Social Lab ที่ครอบคลุม ที่ทำให้สามารถมีงานวิจัยที่ตอบเป้าของแต่ละโปแรกรมได้ รวมถึงสามารถนำผลของงานวิจัยขยายผลหรือต่อยอดผ่านงานบริการวิชาการไปสู่การยกระดับ OTOP และการแก้ปัญหาของชุมชนต่างๆ ได้ต่อไป

ผศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา จากเครือข่ายกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ กล่าวว่าปัจจุบัน มรภ. มีการทำงานตามพระราโชบายและพันธกิจของการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยเป็นทำงานรวมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของงานวิจัยจะเน้นงานนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งที่มีผ่านมามีทั้งการรับทุน HERP จาก สกอ. ทุนโครงการท้าทายไทย ของ วช. ที่รับผ่าน สกสว. (สกว.เดิม) รวมถึงทุนวิจัยจาก สสส. และหน่วยงานอื่นๆ และภายใต้กรอบการวิจัยใหม่ ทางเครือข่ายได้มีการจัดตั้งศูนย์บูรณาการพันธกิจสัมพันธ์ พร้อมทั้งให้แต่ละมหาวิทยาลัยมีการกำหนดกรอบวิจัย รวมถึงผลลผลิตผลลัพธ์และผลกระทบ ที่มีการจำแนกไปตาม OKR (Objectives and key results) และ KR (Key Result) ของแต่ละโปรแกรมไว้เรียบร้อยแล้ว

ในส่วนของเครือข่ายกลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล ผศ.ดร. อภิรักษ์ สงรักษ์ ในฐานะ ผู้ประสานงานรองอธิการบดีเครือข่ายมทร. ด้านการวิจัยและบริการวิชาการ กล่าวว่า เครือข่ายสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ได้นำความสำเร็จของชุดโครงการวิจัยที่ผ่านมา เช่น โครงการวิจัยที่มีผลกระทบสูง (โครงการ OTOP) และโครงการงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่ทำให้ มทร. มีความพร้อมทั้งนักวิจัยของมหาวิทยาลัยและนักวิจัยร่วมในพื้นที่ และมีนวัตกรรมการแก้ปัญหาความยากจนที่เป็นรูปธรรม มาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำแผนบูรณาการด้านการวิจัยภาพรวม 9 มทร. ที่มีเป้าหมายคือการสร้างนวัตกรรมพร้อมใช้ โดยขณะนี้มีการกำหนดชุดโครงการที่สอดล้องกับแพลตฟอร์ม 4 และตรงกับแนวทางที่กำหนดไว้ในโปรแกรมทั้ง 3 แล้ว

ด้าน คุณสุธิมา เทียนงาม จากเครือข่ายวิทยาลัยชุมชน กล่าวว่า ด้วยบทบาทหลักด้านการจัดการศึกษาให้ชุมชนในด้านคุณภาพชีวิตและอาชีพ ทำให้งานวิจัยที่ผ่านมาเป็นงานเพื่อแก้ปัญหาระดับพื้นที่ จึงได้นำสิ่งเหล่านี้มาปรับแนวทางการวิจัยให้สอดคล้องกับโปรแกรมที่ 13 และ 14 ของแพลตฟอร์ม 4 แล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยการท่องเที่ยวโดยชุมชน งานวิจัยด้านเกษตรอินทรีย์ งานวิจัยระบบข้อมูลบ่งชี้ความยากจน รวมถึงได้มีการกำหนดพื้นที่วิจัยในแต่ละเรื่องไว้แล้ว

ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย หนึ่งในคณะกรรมการบริหารหน่วย บพท. กล่าวว่า นอกเหนือจากการต่อยอดจากทุนเดิมของตนเองแล้ว อยากให้แต่ละมหาวิทายาลัยรวมถึงเครือข่าย ให้ความสำคํญกับเรื่อง BCG Model และเรื่องของการพัฒนาเมืองด้วย เพราะ BCG กำลังจะกลายเป็น New Engine Growth ที่ภาครัฐมองว่าจะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ ขณะที่การพัฒนาเมือง ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง คือตัวอย่างที่จะทำให้เกิด Growth Flow ที่จะสามารถกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ได้ ซึ่งอยากให้มหาวิทยาลัยคิดถึงการดึงทุนเดิมตนเองมาทำในส่วนนี้ด้วย

“การทำงานครั้งนี้ ทางหน่วย บพท. และ สกสว. กำลังหาแนวทางที่จะให้ทุกมหาวิทยาลัยสามารถเดินไปด้วยกันได้ทั้งหมด แต่แน่นอนว่าส่วนที่ต้องคำนึงถึงคือคุณภาพของงาน เพราะการพิจารณาทุน จะอยู่บนมาตรฐานคุณภาพ คนที่ทำดี รับผิดชอบ ก็จะสามารถเดินหน้าไปได้”

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารหน่วย บพท. กล่าวเสริมว่า เป็นหน้าที่ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยและหน่วยจัดการต้องทำและสื่อสารสิ่งเหล่านี้กับนักวิจัย เพื่อให้สามารถจัดทำ Concept paper ที่สอดล้องกับแผนแม่บท แพลตฟอร์ม รวมถึงโปรแกรม ที่มีทั้ง OKR (Objectives and key results) และ KR (Key Result) ให้ได้

“ต่อไปมหาวิทยาลัยต้องนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นหลักในการวิเคราะห์ และนำโจทย์ในพื้นที่มาประกบ เพื่อทำเป็น Conceptual idea ส่งเข้ามาก่อน เพื่อให้หน่วยงานให้ทุน และ บพท. ได้พิจารณาว่าน่าจะเป็นประโยชน์หรือไม่ จากนั้นค่อยพัฒนาเป็น Preproposal และ Proposal ต่อไป ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ สกสว. ที่ต้องไปทำให้หน่วยจัดการวิจัยสามารถวิเคราะห์ตรงนี้ให้ได้ เพราะจะมีผลโดยตรงต่อคุณภาพงานวิจัย”

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา รักษาการผู้อำนวยการหน่วย บพท. ได้สรุปการประชุมการประชุมและแนวทางการทำงานร่วมกันในอนาคตว่า เป้าหมายหลักการทำงานของหน่วย บพท. คือ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำผ่านการมองภาพใหญ่ของการพัฒนาประเทศ (Big Picture) แล้วใช้งานวิจัยและนวัตกรรมสร้างการเปลี่ยนแปลง ผ่านการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน การพัฒนากลุ่มอาชีพ การแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาเมือง ดังนั้นเราคาดหวังการทำงานผ่านการมองและทำงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Direction) ที่ต้องใช้พลังของการทำงานระดับเครือข่าย ทำงานโดยใครคนใดคนหนึ่งไม่เพียงพอ

“อยากจะเชิญชวนให้ทุกมหาวิทยาลัยมาร่วมสร้าง เครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ โดยมีเป้าหมายการสร้างปัญญาให้แผ่นดิน โดยจะได้ทำการต่อยอดงานบนฐานทุนเดิมที่แต่ละมหาวิทยาลัยได้ทำไว้ โดยการใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศที่เครือข่ายได้พัฒนาขึ้น mapping ทุนเดิมการทำงานในระดับชุมชน กลุ่มอาชีพ เมืองและการพัฒนากลุ่มจังหวัด รวมกับงานเดิมที่ฝ่าย งานวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ สกว. เดิมได้ทำไว้ เพื่อนำไปสู่การหารือการพัฒนางานวิจัยตอบโจทย์พื้นที่และประชาชนได้อย่างแท้จริงโดยไม่ต้องตั้งต้นใหม่ โดยหน่วย บพท. จะได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยในการกำหนดโจทย์และประเด็นสำคัญการขับเคลื่อนโดยพิจารณาจากทุนเดิมและ Positioning ของมหาวิทยาลัยเอง ให้เกิดการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการอย่างแท้จริงและมากที่สุดต่อไป” ดร.กิตติ กล่าว

สถิติการเข้าชม