“ศุภมาส” หนุน บพท. และม.ปัตตานี” ใช้ ววน. สร้างความมั่นคงชีวิตและเศรษฐกิจฐานราก ชู ปัตตานีเมืองแห่งปูทะเล & ต่อยอดพหุวัฒนธรรมแดนใต้สร้างคุณค่าและมูลค่าเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เข้าเยี่ยมชมผลงานพร้อมมอบนโยบายให้สถาบันการศึกษามีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมเพื่อความเป็นเลิศและเพื่อความมั่นคงของชีวิตและเศรษฐกิจ ที่มุ่งเน้น “เรียนดี มีความสุข มีรายได้” โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และ “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” โดยเน้นประเด็นสำคัญของประเทศ โดยมีนางพาติเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผศ.ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี   รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร  ดร.อโศก พลบำรุง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ และรศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและยกระดับขีดความสามารถในการจัดการภาครัฐและท้องถิ่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมปริชญากร ชั้น 4 อาคารสำนักงานวิทยาเขตปัตตานีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ในการนี้ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้เกียรติบรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบายของกระทรวง อว. ในการหนุนเสริมมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่” โดยมุ่งประเด็นในเรื่อง การแก้ไขปัญหาความยากจน, การบูรณาการความร่วมมือภาคีต่างๆ ทั้งในส่วนของกระทรวง อว. และภาคีในพื้นที่ขับเคลื่อนให้ประชาชนหลุดพ้นความยากจน และมีดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human achievement index : HAI index) ที่ดีขึ้น พร้อมมอบหมายให้ แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทำหน้าที่กำกับติดตามและให้ข้อเสนอแนะการทำงานของสถาบันการศึกษาเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ที่มีบริบทเฉพาะทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งการเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้การเกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาควิชาการ ภาคราชการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน 

โดย แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่ากระทรวงการฯ ได้กล่าวถึงการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในหัวข้อการบรรยาย เรื่อง “การแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติตามภารกิจของมหาวิทยาลัยในพื้นที่” มหาวิทยาลัยต้องก้าวออกไปปฏิบัติงานนอกพื้นที่ร่วมกับชุมชนโดยใช้ทุนทางความรู้ ทุนทางทรัพยากร ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ยังได้กล่าวถึงโมเดลแก้จนที่ได้นำมาใช้ในจังหวัดปัตตานีที่เกิดจากการทำงานหลายภาคีเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเกิดรูปธรรมความสำเร็จ

นอกจากนี้ รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร ยังกล่าวถึงบทบาทของหน่วย บพท. เพื่อแสดงทิศทางการสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์จังหวัดปัตตานี โดยได้กล่าวถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีการทำงานหลักของ “ข้อมูล กลไก กระบวนการ” เป็นการทำงานบนฐานข้อมูลความรู้ทางวิชาการผ่านกระบวนการวิจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ ส่งผลให้เกิดรูปธรรมความสำเร็จ เช่น เมืองปูดำโลกปัตตานี ล้งทุเรียน บ้านดูปูเต้ะ ตลาดวัฒนธรรมสายบุรีบาซาร์ และระบบเศรษฐกิจเชิงนิเวศทางสังคมตำบลตาลีอายร์

ภายในงานนอกจากจะมีกิจกรรมการบรรยายพิเศษแล้วนั้น ยังมีการแสดงนิทรรศการผลงาน ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งโครงการเด่นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วย บพท. ในนามกระทรวง อว. อันได้แก่ โครงการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตปูทะเล ในพื้นที่ภาคใต้ สู่การเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศ ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การตลาด และการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จ.ปัตตานี และโครงการวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี  ล้วนเป็นงานวิจัยที่ส่งผลดีต่อการยกระดับรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในจังหวัดปัตตานีให้ดีขึ้น อีกทั้งยังมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจฐานรากบนฐานทรัพยากรในพื้นที่ ก่อนจะปิดท้ายกิจกรรมด้วยการแสดงแฟชั่นโชว์จากสถาบันออกแบบแฟชั่น PATANISTA Academy คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ที่เรียกเสียงฮือฮาจากผู้เข้าร่วมงานได้เป็นอย่างดี

สำหรับจังหวัดปัตตานี เป็น 1 ใน 7 จังหวัดต้นแบบพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคม ที่ขยายผลจากการบูรณาการระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ (PPPConnext) จนสามารถค้นพบครัวเรือนยากจนในจังหวัดปัตตานี จำนวน 19,005 ครัวเรือน หรือ 109,926 คน ด้วยระบบชี้เป้าที่แม่นยำ ระบบส่งต่อความช่วยเหลือ ทำให้คนจนเข้าถึงโอกาส การพัฒนานวัตกรรมแก้จน สร้างธุรกิจและวิสาหกิจชุมชน และการขยายผลบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย นำไปสู่กลไกเชื่อมโยงแผนพัฒนาระดับพื้นที่ท้องถิ่น แผนพัฒนาจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน พัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนอย่างตรงเป้า ลดความเหลื่อมล้ำ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ทำให้คนปัตตานีหลุดพ้นจากความยากจนยกทั้งจังหวัดในปี 2570

สถิติการเข้าชม