บพท. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเสนอโมเดลแก้จน
เชื่อมโยง อว-มท. ต่ออนุทิน

หน่วย บพท. ร่วมกับคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภากระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และสโมสรโรตารี จัดสัมมนาการแก้ปัญหาความยากจนระดับชาติ ภายใต้หัวข้อ “วิถีสู่ความสำเร็จและความเป็นอยู่ที่ดี” ณ รัฐสภา เพื่อเสนอต่อนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และ รมว.มท. ซึ่งในโอกาสนี้ผู้บริหารและคณะทำงานกระทรวง อว. นำโดย นายเพิ่มสุข  สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.กิติพงค์  พร้อมวงค์ ผสอวช. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานคณะกรรมการบริหารหน่วย บพท. และ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผอ.หน่วย บพท. ให้การต้อนรับร่วมกับภาคีร่วมจัดสัมนา ผู้ทรงคุณวุฒิ หัวหน้าส่วนราชการ ที่ปรึกษา มหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกว่า 170 ท่าน

ภายในงานสัมมนาฯ ได้จัดแสดงนิทรรศการและแลกเปลี่ยนรูปธรรมความสำเร็จโมเดลการแก้ปัญหาความยากจนระหว่างหน่วยงาน โดยได้รับเกียรติจาก นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และ รมว.มท. กล่าวถึงนโยบายแก้จนว่า เป็นวาระแห่งชาติทั้งชาตินี้และชาติหน้า เพราะยังไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนไม่พูดเรื่องนี้ที่ผ่านมาในการหาเสียงไม่มีรัฐบาลใดไม่คิดแก้ปัญหาความยากจนจะทำอย่างไรให้เป้าหมายนี้ เป็นวาระแห่งชาติที่แก้ไขไปได้ ซึ่งตนเข้ามาทำหน้าที่ใน มท. มีหน้าที่ทำให้ปากท้องดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีโอกาสสร้างรายได้ดีขึ้น ด้วยทุกองคาพยพ ซึ่งจะดีแค่ไหนขึ้นอยู่กับการวางแผนการทำงาน โดย มท.พร้อมสนับสนุนภารกิจการแก้ไขปัญหาความยากจน และขยายผลต่อไปจนเกิดความสำเร็จ ดังนั้นนโยบายแก้ปัญหาความยากจนของประเทศไทย ที่เป็นวาระแห่งชาตินั้นประกอบด้วย การสนับสนุนสวัสดิการเพื่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐาน การเปิดโอกาสให้การยกระดับชีวิตด้วยการศึกษา และสร้างโอกาสเพิ่มรายได้ด้วยนวัตกรรมทางความคิดและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทในประเทศ ถ้าจิกซอว์เหล่านี้ถูกต่อได้ครบ เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจนพร้อมพัฒนาและสร้างความเจริญเติบโตที่ยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผอ.หน่วย บพท. ได้ร่วมบรรยาย “การขจัดความยากจนแบบองค์รวมด้วยแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด” ระบุว่าได้ถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาความยากจนของจีนเพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทย จนสามารถพัฒนาแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด (PPAP) สร้าง Sandbox ที่ใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือชี้เป้าเพื่อยกระดับการเข้าถึงโอกาสของคน และสร้างกระบวนการความร่วมมือ มีการวิเคราะห์ฐานทุนครัวเรือน เพื่อออกแบบการส่งต่อความช่วยเหลือ ซึ่งหลายจังหวัดใช้กลไกศาสนาเข้ามาช่วย เช่น กฐิน กองบุญหมู่บ้าน รวมทั้งเกิดระบบ Feedback Loop และโมเดลแก้จนใน 3 ลักษณะ (1) การสร้างอาชีพในครัวเรือน (2) Pro-poor Value Chain เป็นการสร้างอาชีพโดยใช้ธุรกิจชุมชน แล้วเอาครัวเรือนยากจนเข้าไปอยู่ในธุรกิจชุมชน เกิดการสร้างอาชีพที่ตรงกับบริบทพื้นที่ และ (3) โครงข่ายทางสังคม (Social Safety Net)

โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบายแก้ไขความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ดังนี้ (1) ควรมี ศจพ. เป็นกลไกการแก้ปัญหาความยากจนทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ และเสริมทับเรื่ององค์ความรู้โดยมหาวิทยาลัย เสริมเรื่องตลาดโดยธุรกิจชุมชน เสริมเรื่องภาคประชาสังคมโดยเฉพาะสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เพื่อเกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน (2) ต้องมีระบบข้อมูลชี้เป้าที่พื้นที่ยอมรับและให้พื้นที่เป็นผู้บริหารจัดการ (3) เสริมพลังให้ครัวเรือนยากจนลุกขึ้นมาได้ ใช้กลไกศาสนา การปรับแนวคิด (4) เรื่องโครงสร้าง ได้แก่ ความขี้เกียจ ความอยากจะจนทั้งที่ไม่จน และการกดทับของระบบทั้งระบบรัฐ ตลาด อุทกภัย ภัยพิบัติเร่งด่วน การกีดกันทางการค้า รัฐจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ได้นำเสนอรูปธรรมความสำเร็จ ซึ่งเป็นโมเดลแก้จนที่เหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพของคนจนกลุ่มเป้าหมายและสภาพแวดล้อมในพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และอาชีพได้อย่างตรงจุด รวมถึงสร้างโอกาสเพื่อยกระดับฐานะทางสังคม (Social Mobility) ของครัวเรือนยากจนอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ (1) โมเดลอำเภอกระจูดแก้จน ม.ทักษิณ (2) โมเดลรถพุ่มพวงแก้จน มรภ.บุรีรัมย์ (3) โมเดลหม่อนแก้จน วิทยาลัยมุกดาหาร (4) โมเดลเห็ดฟาง ม.กาฬสินธุ์ และ (5) โมเดลตาลีอายร์ มอ.วิทยาเขตปัตตานี เพื่อให้เห็นบทบาทของมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่กับการสร้างการเปลี่ยนแปลงในการขจัดความยากจน

สถิติการเข้าชม