บพท. เสนอผลงานผ่านธีม ”พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อขจัดความยากจน” แก่รองนายกฯ อนุทิน

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ได้ตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมีนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. พร้อมด้วยผู้บริหารและบุคลากรภายใต้กระทรวง ร่วมให้การต้อนรับและนำเสนอผลงาน ณ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (โยธี)

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร และ ดร.อโศก พลบำรุง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ร่วมให้การต้อนรับและนำเสนอผลงานผ่านนิทรรศการ ในธีม การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อขจัดความยากจน โดยมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ใน 20 จังหวัด มีเป้าหมายหลักเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำรายครัวเรือน ด้วยองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้แพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ (Provincial Poverty Alleviation Platform: PPAP) ที่มีระบบข้อมูลชี้เป้าคนจนจริงได้อย่างแม่นยำ ทำให้สามารถสร้างระบบและกลไกแบบบูรณาการการมีส่วนร่วมของพหุภาคีแก้จนทุกภาคส่วน (Multi-Stakeholder Approach) ทั้งในส่วนกลาง และระดับพื้นที่ โดยเฉพาะการทำงานเชื่อมโยงกับกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ลงมาถึงกำนัน ผู้ใหญ่ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในทุกพื้นที่ ก่อให้เกิดการส่งต่อความช่วยเหลือครัวเรือนยากจนด้วยโมเดลแก้จนที่จะช่วยเสริมพลังสร้างอาชีพและยกระดับฐานะทางสังคมให้แก่ครัวเรือนยากจนได้ พร้อมกันนี้ยังดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาขีดความสามารถของ Local Enterprises บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ด้วยเครื่องมือภายใต้ชื่อ ธุรกิจปันกัน ซึ่งเป็น Super App ที่จะสังเคราะห์สุขภาพและปัญหาของธุรกิจ พร้อมออกแบบกระบวนการแก้ไขและ coaching ด้วยองค์ความรู้ เกิดการจ้างงาน สร้างหมุนเวียนเศรษฐกิจในพื้นที่ และส่งเสริมให้ธุรกิจและชุมชนได้เติบโตไปพร้อมๆกัน

นอกจากนี้ หน่วยบพท. ยังได้นำเสนอตัวอย่างรูปธรรมความสำเร็จของผลิตภัณฑ์จากโมเดลแก้จนภายใต้แนวคิด Pro-Poor Value Chain อาทิเช่น กระจูดแก้จนโดยมหาวิทยาลัยทักษิณ จากพื้นที่วิจัยในจังหวัดพัทลุง ผลิตภัณฑ์เวชสำอางสมุนไพร จากสถาบันวิทยาลัยชุมชน พื้นที่วิจัยจังหวัดชัยนาท อันแสดงให้เห็นถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ใช้ผลการวิจัยมาสร้างมูลค่าเพิ่มในการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มรายได้ให้คนจน โดยภายหลังจากนำเสนอผลงาน รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนและหน่วย บพท.หารือกันเพื่อประสานความร่วมมือการทำงานเพื่อการทำงานขจัดความยากจนต่อไป

สถิติการเข้าชม