บพท. ดึงผู้เชี่ยวชาญ และเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคใต้ หนุนเสริมกำลังเพื่อพัฒนาและกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับ “ผึ้งชันโรง” ในพื้นที่ภาคใต้

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมนิวซีซันสแควร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้จัดเวทีการพัฒนากรอบการวิจัยและยุทธศาสตร์สู่การขับเคลื่อน “เครือข่ายธุรกิจร่วมน้ำผึ้งชันโรงในพื้นที่ภาคใต้”

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. กล่าวว่า วันนี้เป็นการผนึกกำลังของสถาบันความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัย โดยการระดมองค์ความรู้และมาตรฐานที่มีอยู่ทั่วประเทศ มาพัฒนาและยกระดับกรอบการวิจัยที่เป็นเครือข่ายธุรกิจร่วมของกลุ่มผึ้งชันโรงภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งถือว่าจะเป็นการยกระดับแนวคิดใหม่ เพื่อเป็นขบวนขับเคลื่อนเครือข่ายธุรกิจชุมชนร่วมที่นำไปสู่การกระจายรายได้และการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชุมชน

ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 – 2566 หน่วย บพท. ได้สนับสนุนโครงการวิจัยในประเด็น “น้ำผึ้งชันโรง” ภายใต้แผนงานหลายประเด็น ซึ่งก่อให้เกิดผลการดำเนินงานที่หลากหลาย อาทิ เกิดการยกระดับและพัฒนาการเลี้ยงผึ้งชันโรงอย่างครบวงจร นวัตกรรมรังชันโรง นวัตกรรมวิธีการขยายเพาะพันธุ์ชันโรง นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่จากชันโรง เกิดศูนย์วิจัยด้านการเกษตรอินทรีย์และการเพาะเลี้ยงชันโรง การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้งชันโรง และสร้างโมเดลแก้จนนวัตกรรมการผลิตน้ำผึ้งชันโรงในพื้นที่ภาคใต้

ภายในงานได้มีการนําเสนอข้อค้นพบ โอกาส และช่องว่างการพัฒนาจากผลการดําเนินงานโครงการวิจัยในประเด็นน้ำผึ้งชันโรง จากตัวแทนนักวิจัยในมหาวิทยาลัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยของหน่วย บพท. อาทิ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมทั้งได้เปิดเวทีร่วมแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวางเป้าหมายการพัฒนา “ผึ้งชันโรง” ในพื้นที่ภาคใต้ว่าในอนาคตควรจะเป็นอย่างไรและมีช่องว่างอะไรในการพัฒนา

รศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี หัวหน้าศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร (Bee Park) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) กล่าวว่า กระแสผึ้งชันโรงเริ่มเข้ามามีบทบาทเมื่อ 4 – 5 ปีหลัง หากชุมชนสามารถผลิตได้มาตรฐานในระดับสากลจะสามารถส่งออกไปได้ทั่วโลกเพราะน้ำผึ้งในประเทศไทยมีสรรพคุณและคุณประโยชน์สูงเทียบเท่ากับน้ำผึ้งในหลายๆประเทศ แต่มีจุดเด่นคือด้านคุณค่าทางสุขภาพ จึงควรนำจุดเด่นนี้มาต่อยอดและยกระดับต่อไป​

สำหรับเป้าหมาย​การพัฒนา​เครือข่าย​ธุรกิจ​น้ำผึ้ง​ชันโรงจากที่ประชุม​ คือ​ น้ำผึ้งชันโรงไทยมีมาตรฐาน​และคุณภาพ​เป็นที่ยอมรับในระดับสากล​ โดยมีแผนกลยุทธ์​ 5 ประเด็น​ ได้แก่ 1. การทำระบบมาตรฐานน้ำผึ้งชันโรงของไทย 2. การสร้างตลาดใหม่และตลาดเฉพาะ (niche market) 3. การสร้างเครือข่ายร่วมมือทางวิชาการและทางการค้า 4. การรวบรวมองค์​ความรู้​เทคโนโลยีการผลิตและการเลี้ยงเพื่อให้น้ำผึ้งชันโรงได้มาตรฐาน อาทิ บ้านผึ้ง เครื่องมือเก็บเกี่ยว การแปรรูปพัฒนาผลิตภัณฑ์ post harvest 5. การเพิ่มมูลค่าจากของเหลือทิ้ง​ เช่น propolis เกสรผึ้ง

สถิติการเข้าชม