ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ หน่วย บพท.

หน่วย บพท. มุ่งหวังเป็นหน่วยงานที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เป็น Catalyst for Change ผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม โดยมีหัวใจการทำงานที่สำคัญ คือ ข้อมูล กลไก กระบวนการ เป็นการทำงานบนฐานข้อมูลความรู้ทางวิชาการผ่นกระบวนการวิจัยที่ทำให้ทุกคนมาทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างระบบคิดและกระบวนการเรียนรู้ อันมีเป้าหมายสุดท้าย คือ คน/กลไกในพื้นที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น เกิดผู้นำที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ (Change Agent) ซึ่งวัดได้จากศักยภาพและขีดความสามารถในการจัดการตนเอง ของคนในพื้นที่ที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนที่ดีขึ้น

การวางยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อการพัฒนาระดับพื้นที่นั้น หน่วย บพท. ได้นำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561 – 2580 ซึ่งเป็นแผนการพัฒนาประเทศที่กำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาให้หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนต้องทำตาม เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ประเทศไทยที่ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” รวมถึงแผนแม่บทภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ มาวางกลยุทธ์การขับเคลื่อนงานวิจัยให้ครอบคลุมทุกมิติการพัฒนา ดังนี้

  1. มิติการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก มีกลุ่มเป้าหมายการพัฒนา 3 กลุ่มหลัก คือ (1) กลุ่มคนจนและครัวเรือนยากจน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและส่งต่อความช่วยเหลือ
    (2) กลุ่มอาชีพ เพื่อสร้างเศรษฐกิจในชุมชนและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่ ธุรกิจขนาดจิ๋ว วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมบนฐานทุนวัฒนธรรมและทรัพยากรพื้นถิ่น และ (3) กลุ่มชุมชน มุ่งเน้นให้ชุมชนเกิดการยอมรับปรับใช้นวัตกรรมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในสภาวะปัจจุบัน
  2. มิติการกระจายศูนย์กลางความเจริญ มีกลุ่มเป้าหมายการพัฒนา คือ เมือง ท้องถิ่น จังหวัด และภูมิภาคซึ่งเป็นการพัฒนาเชิงโครงสร้างและการจัดการ “ระดับเมือง” เพื่อดึงความเจริญทางเศรษฐกิจภายในจังหวัดสร้างกลไกพัฒนาพื้นที่ให้กับหน่วยงานระดับท้องถิ่น (Local Government) ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานระดับตำบลและเทศบาล รวมถึงการจัดการเรื่องเฉพาะกิจในพื้นที่เฉพาะ เช่น พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่พรมแดนและพื้นที่ชายแดนใต้