บพท. หนุนเสริมเครือข่าย มรภ. พัฒนาขับเคลื่อนระบบ App Tech Rajabhat เพื่อสร้างนวัตกรชุมชนทั่วประเทศ

         เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. ได้เข้าร่วมงานการประชุมเชิงปฏิบัติการและการเสวนาภาคีเครือข่ายราชภัฏ
 ด้านการบริหารจัดการระบบและกลไกนวัตกรรมพร้อมใช้ Appropriate Technology (App Tech) เพื่อหนุนเสริมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 24 แห่ง ในการพัฒนาระบบฐานข้อมูล App Tech Rajabhat พร้อมทั้งขยายผลนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมไปสู่การใช้ประโยชน์ ซึ่งภายในงานได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(ทปอ.มรภ.) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลลูนชั้น 3  โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์คกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยแลนวัตกรรม (สกสว.) ผู้บริหารจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 24 แห่ง และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีผู้เข้าร่วมงานและรับชมถ่ายทอดสดผ่านเพจ Facebook Live จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 150 คน

           การนำร่องระบบ App Tech Rajabhat ที่พัฒนาขึ้นภายใน 14 วัน มีนำเข้าข้อมูลนวัตกรรมพร้อมใช้แล้วมากกว่า 519 นวัตกรรม ถือเป็นเครื่องมือที่เชื่อมโยงความร่วมมือภายในเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในการรวบรวมฐานข้อมูลนวัตกรรมพร้อมใช้ สร้างการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างสถาบัน ในการจัดการและพัฒนาท้องถิ่นข้ามหน่วยงานต่อไป อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโจทย์วิจัยในอนาคต ก่อให้เกิดการจับคู่กันระหว่างเจ้าของนวัตกรรมพร้อมใช้จากภาคมหาวิทยาลัยกับผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่รวมถึงเพื่อเป็นการยกระดับความสามารถการใช้ข้อมูลสารสนเทศในการบริหารการจัดการงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 สกสว. จะมีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปขยายผลใช้ประโยชน์ในวงกว้างเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ โดยต้องเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีราคาเข้าถึงได้ ทั้งนี้งบประมาณส่วนนี้จะจัดสรรผ่านไปยัง บพท. วช. สนช. และ สวก.

     ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา ประธาน ทปอ.มรภ. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏมีหน้าที่ในการพัฒนาพื้นที่ จึงจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อทำให้การทำงานที่มีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากขึ้น โดยมีผลงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาปี 47-66 รวมกว่า 7269 ผลงาน

          ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. กล่าวว่า บพท. จะเข้ามาเสริมพลังเครือข่าย มรภ. ในการรวบรวมองค์ความรู้นวัตกรรมที่พร้อมใช้เพื่อขยายผลการพัฒนาในพื้นที่และยกระดับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากงานวิจัย ทั้งนี้ บพท. มีแผนที่จะจัดกิจกรรมรายภูมิภาคขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการจับคู่เทคโนโลยีที่พร้อมใช้กับผู้ใช้ประโยชน์ และถ้ามีความพร้อมจึงจะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้ต่อไป ซึ่งคาดหวังให้ชาวบ้าน แกนนำชุมชน รุกขึ้นมาจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง เกิดการพัฒนานวัตกรชุมชนโดยมีบุคลากรจากมหาวิทยาลัยเป็นโค้ช

สถิติการเข้าชม